การปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับ

ความเสี่ยง

ในการดำเนินธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมนั้น มีความเกี่ยวข้องกับกฎหมาย และระเบียบข้อบังคับจำนวนมาก เนื่องจากเป็นธุรกิจที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ทั้งทางตรงและทางอ้อม บริษัทฯ และผู้มีส่วนได้เสียจึงต่างให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับในทุกด้าน การดำเนินงานที่ไม่สอดคล้องกับกฎหมายหรือระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ ทั้งของบริษัทฯ เอง หรือของคู่ค้าผู้รับเหมาของบริษัทฯ  อาจนำมาซึ่งความเสียหายทางการเงินและความเสียหายต่อชื่อเสียงของบริษัทฯ  ตลอดจนความเชื่อมั่นของผู้มีส่วนได้เสีย และการยอมรับของสังคมและชุมชนโดยรอบให้สามารถประกอบกิจการและเติบโตได้ในอนาคต ในปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ ระเบียบข้อบังคับ รวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม และธุรกิจเกี่ยวเนื่องมีความหลากหลาย และเข้มงวดมากขึ้น ทำให้ความเสี่ยงด้านการปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับ (compliance risk) เป็นหนึ่งในประเด็นความเสี่ยงขององค์กรที่ต้องมีการบริหารจัดการอย่างรอบคอบ

โอกาส

การปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง จะทำให้บริษัทฯ สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างโปร่งใส เป็นที่น่าเชื่อถือ และได้รับความเชื่อมั่นจากผู้มีส่วนได้เสีย การติดตามการเปลี่ยนแปลงของกฎหมายและระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมและธุรกิจเกี่ยวเนื่องอย่างใกล้ชิด จะทำให้บริษัทฯ สามารถเตรียมตัวเพื่อรับมือกับกฎหมายใหม่ที่เกิดขึ้น การเปลี่ยนแปลงรูปแบบความต้องการของลูกค้าที่มีผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของกฎหมายข้อบังคับทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้บริษัทฯ สามารถปรับตัวและพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อตอบสนองความต้องการเหล่านั้นได้ทันท่วงที

แนวทางการบริหารจัดการ

เพื่อให้บริษัทฯ สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างสอดคล้องและถูกต้องตามกฎหมาย และระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ บริษัทฯ ได้มีแนวทางการบริหารจัดการโดยยึดตามกระบวนการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านการปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับ ดังนี้

1. ระบุประเด็นความเสี่ยง (Risk Identification)

วิเคราะห์และระบุประเด็นความเสี่ยงด้านการปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับตลอดห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจ โดยอ้างอิงตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับในแต่ละพื้นที่หรือประเทศที่บริษัทฯ เข้าไปดำเนินกิจการ

2. การบริหารจัดการความเสี่ยง (Risk Management)

ประเมินความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นจากการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับ หรือมาตรฐานสากลต่าง ๆ และกำหนดมาตรการเพื่อจัดการความเสี่ยง ได้แก่ การมอบหมายฝ่ายกฎหมายและฝ่ายที่ติดต่อกับหน่วยงานภาครัฐเป็นผู้ติดตามการเปลี่ยนแปลงข้อกฎหมายและระเบียบข้อบังคับในแต่ละพื้นที่อย่างใกล้ชิด นอกจากนี้บริษัทฯ ได้สื่อสารกับพนักงานและผู้มีส่วนได้เสียผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น การอบรม การประชุม อีเมล อินทราเน็ต เพื่อส่งเสริมให้พนักงานและผู้มีส่วนได้เสียได้มีความรู้ความเข้าใจในกฎหมายที่มีการเปลี่ยนแปลง และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

3. การกำกับดูแล (Compliance Monitoring)

ผู้บริหารของทุกหน่วยงานมีหน้าที่ในการกำกับดูแลให้พนักงานและผู้รับเหมาของบริษัทฯ ปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับทุกด้านอย่างเคร่งครัด มีการตรวจสอบและประเมินผลการดำเนินงานด้านการปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับด้วย

4. การรายงาน (Communication & Reporting)

ฝ่ายกฎหมายมีหน้าที่รวบรวมกรณีการละเมิดและผลการดำเนินงานด้านการปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับ และรายงานต่อคณะผู้บริหาร คณะกรรมการการกำกับดูแลกิจการที่ดี คณะกรรมการบริหารความเสี่ยง และคณะกรรมการบริษัท ตามลำดับ เพื่อรับทราบและกำหนดแนวทางในการปรับปรุงกลไกการกำกับดูแลกิจการที่ดียิ่งขึ้น และเปิดเผยผลการดำเนินงานในรายงานความยั่งยืนประจำปีต่อไป

ในปี 2566 คณะกรรมการบริหารจัดการความเสี่ยงได้มีการระบุความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของกฎหมายและระเบียบปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อมขึ้นเป็นความเสี่ยงขององค์กร โดยบริษัทฯ ได้มีการกำหนดหน่วยงานผู้รับผิดชอบโดยตรง และได้กำหนดแผนการบริหารจัดการเพื่อลดผลกระทบจากความเสี่ยง (Risk Mitigation Plan) และระบุระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ (Risk Appetite) เพื่อติดตามและประเมินความเสี่ยงอย่างใกล้ชิด เนื่องจากในปัจจุบันมีการประกาศใช้กฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก และมีการเปลี่ยนแปลงระเบียบข้อบังคับในระดับพหุภาคีระหว่างประเทศ (International Multilateralism) ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมที่ประกอบกิจการส่งออกได้

และในปี 2566 บริษัทฯ ไม่พบเหตุการณ์การไม่ปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม และไม่พบการละเมิดกฎหมายด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ของพนักงานและคู่ค้าผู้รับเหมาอย่างมีนัยสำคัญ และบริษัทฯ ยังคงยึดมั่นในการดำเนินการที่สอดคล้องกับกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับ และมาตรฐานสากล เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม ในการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบและยั่งยืน

ร่วมสร้างอนาคตไปกับอมตะ

AMATA

Contact us for more details.

Thailand
+66 38 939 007
Vietnam

+84 251 3991 007 (South)
+84 203 3567 007 (North)

Myanmar
+95 1 230 5627
Laos

+85 620 5758 0007

© AMATA CORPORATION PCL. All rights reserved.  Web by Toneyes  Web by Toneyes