การบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลที่ไม่มีประสิทธิภาพหรือไม่เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะในประเด็นความเท่าเทียมกันและการเคารพสิทธิของพนักงาน อาจเกิดความเสี่ยงในการสูญเสียพนักงานที่มีความสามารถ ส่งผลต่อความต่อเนื่องทางธุรกิจหรือความสามารถในการแข่งขันในอนาคตได้ หากบริษัทฯ ไม่มีกระบวนการพัฒนาทักษะ ความรู้และความสามารถใหม่ ๆ ให้กับพนักงานเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสภาพแวดล้อมทางธุรกิจและความต้องการของลูกค้าในปัจจุบัน จะส่งผลให้บริษัทฯ เกิดความเสี่ยงในการสูญเสียโอกาสทางธุรกิจ ไม่สามารถส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้
หากบริษัทฯ มีการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลที่มีประสิทธิภาพ ปฏิบัติต่อพนักงานอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม ปกป้องและเคารพสิทธิของพนักงานทุกคน และส่งเสริมการพัฒนาพนักงานที่เหมาะสมต่อการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน จะส่งผลให้พนักงานทำงานอย่างมีความสุขและมีประสิทธิภาพ มีความผูกพันกับบริษัทฯ มากขึ้น ทำให้คุณภาพของผลิตภัณฑ์และบริการของบริษัทฯ มีคุณภาพที่ดีขึ้น ตลอดจนเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจไปสู่เป้าหมายที่วางไว้และสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจได้อย่างยั่งยืนต่อไป
บริษัทฯ มีการวางแผนกลยุทธ์ และติดตามแผนดำเนินการด้านบุคคลผ่านคณะกรรมการบริหารงานทรัพยากรบุคคล (Human Resource Management Committee) โดยมีประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มอมตะเป็นประธาน และมีคณะกรรมการประกอบด้วยประธานเจ้าหน้าที่การตลาด ประธานเจ้าหน้าที่การพัฒนาธุรกิจ ประธานเจ้าหน้าที่การเงิน ประธานเจ้าหน้าที่เทคนิควิศวกรรม ประธานเจ้าหน้าที่การบริหารกลาง รวมทั้งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการของบริษัทย่อย จำนวนรวม 13 คน โดยการกำหนดแนวทางปฏิบัติในการดูแลพนักงานของบริษัทฯ เป็นไปตามข้อกำหนด ระเบียบ และกฎหมายภายในประเทศ และมาตรฐานสากลที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มธุรกิจที่บริษัทฯ ประกอบกิจการ ครอบคลุมถึงหลักสิทธิมนุษยชน มีการปฏิบัติต่อพนักงานทุกคนอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม ปกป้องและเคารพสิทธิของพนักงานทุกคน รวมถึงจัดให้มีช่องทางรับข้อร้องเรียนเพื่อรับฟังความคิดเห็น ปัญหา และความคาดหวังจากพนักงานทุกคน เพื่อนำมาพิจารณาปรับปรุงการบริหารทรัพยากรบุคคลต่อไป
บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับการบริหารทรัพยากรบุคคลที่ดีและมีประสิทธิภาพ ตั้งแต่กระบวนการสรรหา การดูแลและรักษาบุคลากร และการพัฒนาบุคลากร เพื่อมุ่งมั่นตอบสนองประเด็นความต้องการและความคาดหวังของพนักงานให้เกิดความผูกพันต่อบริษัทฯ โดยยึดหลักการดูแลพนักงานแบบองค์รวม ทั้งร่างกายและจิตใจ เพื่อให้พนักงานมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง มีจิตใจที่มีความสุขในการทำงาน มีคุณภาพชีวิตที่ดี จะส่งผลให้พนักงานสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและเติบโตไปพร้อมกับบริษัทฯ นำไปสู่ผลสัมฤทธิ์ทางธุรกิจอย่างยั่งยืนต่อไป
บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับการสรรหา การคัดเลือก และการว่าจ้างพนักงานที่จะมาร่วมงานกับบริษัทฯ เพื่อให้ได้บุคลากรที่มีคุณสมบัติที่เหมาะสมสอดคล้องกับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ และมีศักยภาพในการพัฒนาเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนองค์กรตามวัฒนธรรม AMATA DNA: DRIVE โดยสรรหาผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมจากพนักงานภายในกลุ่มบริษัทและจากบุคคลภายนอก โดยยึดหลักความเป็นธรรม ความเสมอภาค โปร่งใส ไม่เลือกปฏิบัติ ตลอดกระบวนการสรรหาและว่าจ้างพนักงาน ในปี 2566 บริษัทฯ มีเป้าหมายให้อัตราการสรรหาและว่าจ้างสำเร็จตามแผนอย่างน้อยร้อยละ 70 โดยมีกลยุทธ์และผลการดำเนินงาน ดังนี้
กลยุทธ์ | ผลการดำเนินงาน |
---|---|
1. วางแผนอัตรากำลังคนและขีดความสามารถให้สอดรับกับวัฒนธรรมองค์กร |
|
2. สร้างภาพลักษณ์ที่ดีผ่านสื่อออนไลน์ เพื่อดึงดูดคนรุ่นใหม่ |
|
3. สนับสนุนการการทำงานข้ามสายงานของพนักงาน เพื่อขยายขีดความสามารถ และให้พนักงานได้ทำงานในสายงานที่เหมาะสม |
|
ในปี 2566 บริษัทฯ มีอัตราตำแหน่งที่เปิดรับทั้งสิ้น 59 ตำแหน่ง และสามารถสรรหาและว่าจ้างพนักงานใหม่ได้ทั้งสิ้น 46 ตำแหน่ง คิดเป็นอัตราสำเร็จร้อยละ 78 จำนวนพนักงานของบริษัทฯ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 ทั้งสิ้น 301 คน โดยมีรายละเอียด ดังนี้
บริษัทฯ มีนโยบายรับพนักงานที่เกษียณอายุกลับเข้าทำงานตามความสมัครใจ โดยเป็นไปตามระเบียบปฏิบัติว่าด้วยการเกษียณอายุการทำงาน (Retirement Policy) เนื่องจากบริษัทฯ ตระหนักดีว่าพนักงานที่เกษียณอายุแล้วแต่สุขภาพร่างกายยังแข็งแรง ยังทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและสามารถสร้างคุณประโยชน์แก่บริษัทฯ โดยการถ่ายทอดประสบการณ์การทำงานให้แก่พนักงานรุ่นหลังได้เป็นอย่างดี บริษัทฯ จึงเปิดโอกาสให้มีการจ้างงานหลังเกษียณอายุและพิจารณาจากความรู้ความสามารถของผู้เกษียณอายุและความเหมาะสมของลักษณะงานในทุกๆ ปี โดยพนักงานจะได้รับค่าตอบแทนตามระเบียบปฏิบัติ มีความเหมาะสม และได้รับสวัสดิการใกล้เคียงกับพนักงานอื่นทั่วไป ในปี 2566 บริษัทฯ มีพนักงานเกษียณอายุจำนวน 3 คน และมีพนักงานที่ว่าจ้างตามนโยบายการจ้างงานพนักงานเกษียณอายุจำนวนรวม 14 คน
บริษัทฯ มีนโยบายในการจ้างงานสร้างอาชีพและรายได้ให้กับผู้พิการ โดยในปี 2566 บริษัทฯ มีการจ้างพนักงานที่เป็นผู้พิการจำนวน 1 คน ซึ่งครบตามที่กฎหมายกำหนด (เนื่องจากมีพนักงาน ในบริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จํากัด (มหาชน) จำนวน 116 คน ส่วนบริษัทย่อยนั้น มีจำนวนพนักงานไม่ถึงตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด)
บริษัทฯ จัดสรรสวัสดิการและสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมจากสวัสดิการพื้นฐานตามกฎหมายกำหนดให้แก่พนักงานทุกคนอย่างไม่เลือกปฏิบัติ โดยยึดหลักความเหมาะสมตามหน้าที่ความรับผิดชอบ กรณีที่เป็นพนักงานประจำและพนักงานสัญญาจ้างรายปีจะได้รับสวัสดิการเพิ่มในรูปแบบเดียวกันได้แก่ การช่วยเหลือค่าตรวจรักษาพยาบาล และการรักษาด้านทันตกรรม การจัดฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ประจำปี สวัสดิการกู้ยืมเงิน เงินช่วยเหลือประเภทต่าง ๆ ตามหลักเกณฑ์ที่บริษัทฯ กำหนด แต่มีความแตกต่างที่พนักงานประจำจะได้รับสิทธิ์เข้าร่วมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของบริษัทฯ และเงินชดเชยเกษียณอายุเพิ่มเติม นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้จัดสวัสดิการของพนักงานประจำและสัญญาจ้างรายปีที่ครอบคลุมไปถึงครอบครัวของพนักงานอีกด้วย เช่น เงินทุนการศึกษาบุตร เงินช่วยเหลืองานศพ เป็นต้น
ในปี 2566 บริษัทฯ ได้ปรับปรุงระเบียบสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาล (ประกันภัยแบบกลุ่ม) กรณีเจ็บป่วยเป็นคนไข้ในโรงพยาบาล (in-patient) โดยเพิ่มผลประโยชน์ในส่วนของค่ารักษาพยาบาลเพิ่มเติม ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 เป็นต้นมา รวมทั้งยังจัดแผนประกันสุขภาพผู้ป่วยใน สำหรับสมาชิกครอบครัวพนักงานเพิ่มเติมให้อีกด้วย
บริษัทฯ ได้แจ้งเรื่องสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ที่พนักงานพึงได้รับอย่างชัดเจนในพนักงานทราบตั้งแต่วันแรกที่เริ่มงานกับบริษัทฯ และเปิดโอกาสให้พนักงานมีส่วนร่วมในการปรับปรุงสวัสดิการให้เหมาะสมและสร้างสรรค์กิจกรรมเพื่อส่วนรวม ผ่านที่ประชุมคณะกรรมการสวัสดิการ (Welfare Committee) ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากพนักงานจำนวน 18 คน ที่ได้รับเลือกจากพนักงาน และผู้แทนจากบริษัทฯ จำนวน 6 คน โดยจะมีการประชุมเป็นประจำทุก 2 เดือน เพื่อส่งเสริมการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของพนักงานซึ่งจะนำไปสู่ผลการทำงานที่ดีต่อไป และยังเป็นช่องทางหนึ่งในการรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะรวมถึงข้อร้องเรียนจากพนักงานด้วย
บริษัทฯ สนับสนุนการวางแผนทางการเงินในระยะยาว และการเตรียมความพร้อมก่อนเกษียณอายุของพนักงานมาโดยตลอด บริษัทฯ จึงได้จัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพขึ้นโดยในปี 2566 มีพนักงานจำนวน 159 คน เป็นสมาชิกกองทุน คิดเป็นร้อยละ 52.8 ของพนักงานทั้งหมด บริษัทฯ ได้มอบหมายให้บริษัทหลักทรัพย์จำนวนสองบริษัทบริหารจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสำหรับพนักงานเพื่อกระจายความเสี่ยงในการลงทุนตั้งแต่ปี 2563 โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของพนักงานเป็นที่ตั้ง นอกจากนี้บริษัทฯ ยังได้เชิญผู้เชี่ยวชาญทางการเงินมาให้ความรู้แก่พนักงานเพื่อให้เข้าใจภาวะเศรษฐกิจ การลงทุน และสิทธิประโยชน์ทางภาษีด้วย
พนักงานเป็นฟันเฟืองสำคัญของการดำเนินธุรกิจ การดูแลพนักงานให้มีความปลอดภัยและลดความเสี่ยงในการติดเชื้อในช่วงของการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 จึงเป็นเรื่องที่บริษัทฯ ให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก และได้ดำเนินการเพื่อสนับสนุนสุขภาพและความปลอดภัยให้แก่พนักงาน ดังนี้
ในปี 2566 บริษัทฯ ยังคงให้พนักงานบางส่วนทำงานจากบ้าน เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดในสำนักงานโดยใช้ระบบออนไลน์ในการทำงาน การประชุม การอบรมเชิงปฏิบัติการ และการประชุมลูกค้า ซึ่งพบว่า การทำงานเป็นไปด้วยความราบรื่น ลดเวลาในการประชุม ลดการเข้ามายังสำนักงาน และสร้างความพึงพอใจให้แก่พนักงานและลูกค้า
นับตั้งแต่ปี 2563 ที่มีการแพร่ระบาดของ COVID-19 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบันนี้บริษัทฯ ยังคงดูแลพนักงานอย่างสม่ำเสมอ เมื่อมีพนักงานติดเชื้อจะต้องมีการรายงานให้บริษัทฯ รับทราบ โดยบริษัทฯ จะจัดยารักษาโรคพื้นฐานพร้อมหน้ากากอนามัย ส่งไปยังที่พัก รวมถึงมีทีมพยาบาลประจำบริษัทฯ ให้คำแนะนำเบื้องต้นในการดูแลรักษาสุขภาพผ่านทางไลน์ด้วย
บริษัทฯ ได้ดำเนินการจัดประชุมพนักงานผ่านระบบออนไลน์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อสื่อสารมาตรการป้องกันที่สำคัญ การให้ความรู้เกี่ยวกับโรคและการป้องกันตนเองโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงการประชุมผู้บริหารระดับสูงพบพนักงานเป็นประจำทุกไตรมาส
บริษัทฯ เปิดโอกาสให้พนักงานมีส่วนร่วมในการกำหนดแผนการทำงาน และตัวชี้วัดผลการปฏิบัติงานของตนเองร่วมกับหัวหน้างาน ให้มีความสอดคล้องกับเป้าหมายของฝ่ายงานและบริษัทฯ (Corporate KPI) โดยบริษัทฯ ได้กำหนดระบบการประเมินผลการปฏิบัติงานนี้ไว้ปีละ 2 ครั้ง คือ กลางปีและปลายปี ซึ่งจะเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้บังคับบัญชาและพนักงานได้หารือร่วมกัน (two-way communication) เพื่อพัฒนาปรับปรุงการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นและเป็นกลไกสำคัญในการมุ่งสู่เป้าหมายของบริษัทฯ ที่ได้ตั้งไว้ รวมถึงเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้บังคับบัญชาและพนักงาน อันจะนำมาซึ่งความผูกพันต่อองค์กร ในปี 2566 บริษัทฯ ได้ดำเนินการประเมินผลการปฏิบัติงานครอบคลุมพนักงานและผู้บริหารทั่วทั้งองค์กร (ร้อยละ 100) ซึ่งการประเมินแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่
1. การประเมินผลการทำงานที่มีตัวชี้วัดผลการปฏิบัติงาน (KPI) เป็นกลไกขับเคลื่อนในกระบวนการบริหารผลงาน โดยมีการกำหนดเป้าหมายร่วมกันของพนักงานและผู้บังคับบัญชา
2. การประเมินพฤติกรรมการปฏิบัติงานแสดงออกผ่านทางคุณลักษณะร่วมขององค์กร (AMATA DNA) ซึ่งเป็นสมรรถนะหลัก (Core Competency) ของบริษัทฯ และเป็นพฤติกรรมที่บริษัทฯ คาดหวัง ด้วยความเชื่อว่า วิสัยทัศน์ ภารกิจ และกลยุทธ์ จะบรรลุได้ องค์กรต้องมีพนักงานที่แสดงออกซึ่งคุณลักษณะร่วมกัน
3. การประเมินความก้าวหน้าทางอาชีพ โดยมองทั้งด้านจุดแข็งและจุดที่ควรพัฒนาของพนักงาน รวมถึงมีการทำแผนพัฒนาพนักงานระยะ 1-3 ปี ที่เห็นพ้องร่วมกันระหว่างพนักงานและผู้บังคับบัญชา
บริษัทฯ ตระหนักถึงการดูแลและรักษาพนักงานที่มีความรู้สามารถซึ่งเป็นกำลังสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนบริษัทฯ ให้เติบโตอย่างยั่งยืน บริษัทฯ จึงพยายามอย่างยิ่งที่จะทำให้เกิดความเป็นธรรมด้านค่าตอบแทนตามผลงานและมีสวัสดิการที่เหมาะสม รวมถึงการให้รางวัลสำหรับผู้ที่มีความสามารถเป็นที่ประจักษ์ เพื่อดึงดูดและรักษาพนักงานคนสำคัญให้อยู่กับบริษัทฯ และเติบโตเป็นผู้บริหารรุ่นใหม่ โดยบริษัทฯ ได้เข้าร่วมการสำรวจค่าจ้างและสวัสดิการกับสถาบันที่เป็นที่ยอมรับในวงการของประเทศ เพื่อเทียบเคียง (benchmark) ระหว่างกลุ่มธุรกิจใกล้เคียงกันอย่างต่อเนื่องทุกปี เพื่อบริหารค่าตอบแทนให้สอดคล้องกับแนวโน้มความต้องการของพนักงานและให้สามารถแข่งขันในตลาดได้ ตลอดจนดึงดูดพนักงานที่มีความสามารถหรือกลุ่ม talent เข้ามาร่วมงานกับบริษัทฯ มากขึ้น
บริษัทฯ กำหนดให้มีการประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้บริหารระดับสูงปีละ 2 ครั้ง และใช้ผลการประเมินการปฏิบัติงานรายบุคคล มาพิจารณากำหนดค่าตอบแทนประจำปีสำหรับผู้บริหารระดับสูง โดยกำหนดตัวชี้วัดที่สอดคล้องกับ Corporate KPI ครอบคลุมด้านธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอันเป็นเป้าหมายร่วมของการพัฒนาอย่างยั่งยืนของบริษัทฯ (Sustainable Development) ที่น้ำหนักร้อยละ 75 ซึ่งผู้บริหารในแต่ละสายงานต้องนำเป้าหมายบริษัทฯ แต่ละด้านไปบริหารและสามารถถ่ายทอดไปยังผู้ใต้บังคับบัญชาได้เพื่อดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนต่อไป และมีการประเมินพฤติกรรมการปฏิบัติงานแสดงออกผ่านทางคุณลักษณะร่วมขององค์กร (AMATA DNA) ที่น้ำหนักร้อยละ 25
ในปีนี้ บริษัทฯ ได้ปรับปรุงเกณฑ์การประเมินการปฏิบัติงานของผู้บริหารระดับสูงให้มีตัวชี้วัดผลการปฏิบัติงานที่ชัดเจนและสอดคล้องกับกลยุทธ์และทิศทางของบริษัทมากขึ้น โดยกำหนดตัวชี้วัดผลการปฏิบัติงานของผู้บริหารระดับสูงทุกคนตามเป้าหมายของแผนกลยุทธ์ระยะยาวปี 2573 (2030) และสอดคล้องกับ Corporate KPI โดยใช้มุมมองตามหลัก Balanced Scorecard ซึ่งมีตัวชี้วัดที่ไม่ใช่ด้านเงิน ได้แก่ การมีส่วนในการสร้างและรักษาบุคลากรและ Talents รวมถึงการพัฒนาทักษะและสมรรถนะที่จำเป็น รวมถึงการมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ตลอดจนการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาปรับปรุงกระบวนการทำงานเพื่อผลักดันการเติบโตธุรกิจของบริษัทฯ
คณะกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทนเป็นผู้พิจารณาประเมินผลและค่าตอบแทนของประธานเจ้าหน้าที่บริหารเพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติ ถึงแม้ว่าผู้ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารในปัจจุบันจะปฏิเสธที่จะรับค่าตอบแทนดังกล่าวโดยตัวชี้วัดผลการปฏิบัติงานได้ถูกกำหนดขึ้นตามความเห็นร่วมกันระหว่างคณะกรรมการบริษัทและประธานเจ้าหน้าที่บริหารซึ่งครอบคลุมการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายทางธุรกิจที่น้ำหนักร้อยละ 70 ควบคู่ไปกับเป้าหมายทางด้านความยั่งยืนหรือ ESG ที่น้ำหนักร้อยละ 30 โดยมีตัวอย่างตัวชี้วัดด้าน ESG เช่น การลดอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งทางตรงและทางอ้อม จำนวนเหตุการณ์ละเมิดกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมหรือถูกปรับอย่างมีนัยสำคัญ จำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนภายในนิคมอุตสาหกรรม คะแนนความพึงพอใจของลูกค้าและชุมชนโดยรอบ จำนวนกรณีทุจริตคอร์รัปชั่น และจำนวนเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการรั่วไหลของข้อมูลของบริษัทหรือมีการโจมตีทางไซเบอร์ เป็นต้น ในเรื่องค่าตอบแทนนั้นได้ทำการสำรวจอัตราการปรับเงินเดือนและค่าตอบแทนสำหรับผู้บริหารจากบริษัทอื่น ๆ ในธุรกิจประเภทเดียวกัน คณะกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทนจะพิจารณานำเสนอต่อคณะกรรมการบริษัทเพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไป
บริษัทฯ ตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาศักยภาพ ความรู้ และความสามารถของพนักงานที่มีความหลากหลายตามสาขาอาชีพ และตำแหน่งงาน เพื่อรองรับโอกาสทางธุรกิจและความท้าทายในอนาคต มุ่งสู่การเป็น High Performance Organization บริษัทฯ ได้จัดทำแนวทางการพัฒนา (AMATA Learning Journey) จากสมรรถนะหลักของบริษัทฯ และวิธีการพัฒนา (learning solutions) ในการเรียนรู้และพัฒนาตนเองของทุกระดับตำแหน่งงานเพื่อให้เกิดพฤติกรรมตามที่บริษัทฯ คาดหวัง
ในปี 2566 บริษัทฯ ได้จัดอบรมหลักสูตร How to Create Your Own Effective IDP (individual development plan) แก่พนักงานทุกระดับ ตามหลักการ Learning Model 70:20:10 รวมถึงให้แนวทางแก่ผู้บังคับบัญชาและผู้ใต้บังคับบัญชาในการพูดคุยเพื่อวางแผนการพัฒนารายบุคคลและปิด gap ของแต่ละบุคคลด้วย ผลจากการอบรมได้รับแผน IDP กลับมาร้อยละ 45 โดยการจัดทำแผนพัฒนารายบุคคลดังกล่าว บริษัทฯ ได้นำข้อมูลความรู้พื้นฐาน (build knowledge) ตามความต้องการของพนักงานมาวิเคราะห์เพื่อจัดการอบรม (training needs) ประจำปีให้แก่พนักงานต่อไป
นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้จัดทำหลักสูตรโปรแกรมการพัฒนาสำหรับผู้บริหารระดับต้น ระดับกลาง และระดับสูง (AMATA Leadership Development Program) เพื่อมุ่งหวังในการสร้างและเตรียมความพร้อมผู้นำรุ่นใหม่ (future leader) ให้มีภาวะผู้นำ (leadership) และมีทักษะความรู้ที่เหมาะสม เป็นไปตามคุณสมบัติของผู้สืบทอดตำแหน่งสำคัญเพื่อให้บริษัทฯ สามารถเติบโตได้อย่างมั่นคงและสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน บริษัทฯ คาดว่าการพัฒนาหลักสูตรแล้วเสร็จในไตรมาสแรกของปี 2567 และเริ่มพัฒนาได้ตามเป้าหมาย โดยวัตถุประสงค์หลักของการพัฒนาหลักสูตร ได้แก่
หลักสูตร AMATA Leadership Development Program
บริษัทฯ จัดทำโครงการ Rising Star เพื่อค้นหาพนักงานที่มีความสามารถในการทำงานและมีศักยภาพสูง เพื่อวางแผนพัฒนาพนักงานและเตรียมผู้นำรุ่นใหม่สำหรับการขยายธุรกิจและการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต บริษัทฯ มีหลักเกณฑ์การคัดเลือกที่สอดคล้องกับกลยุทธ์ทางธุรกิจของบริษัทฯ โดยกำหนดปัจจัยแสดงศักยภาพ (talent potential factor) จำนวน 5 ด้าน ที่นำมาใช้เป็นปัจจัยหลักในการพิจารณากลั่นกรองศักยภาพด้านผู้นำในอนาคต
บริษัทฯ จัดให้มีโปรแกรมการค้นหาและดูแลพนักงานศักยภาพสูง (AMATA Rising Star) เพื่อส่งเสริมความก้าวหน้าของพนักงานและลดความเสี่ยงของบริษัทฯ ด้านการขาดแคลนบุคลากรที่มีความสามารถ ทำให้บริษัทฯ สามารถขยายธุรกิจได้ตามแผนที่กำหนดไว้บริษัทฯ ได้ทำการคัดเลือก Rising Star จากกลุ่มเป้าหมายที่เป็นพนักงานระดับผู้บริหารชั้นต้นขึ้นไป และกลุ่มพนักงานที่ทำงานในตำแหน่งสำคัญต่อธุรกิจของบริษัทฯ ด้วยวิธีการประเมิน 360 องศาในการค้นหาระดับศักยภาพ พิจารณาจากผลการปฏิบัติงานในการค้นหาระดับผลงาน และการกลั่นกรองจากคณะกรรมการบริหารทรัพยากรบุคคล โดยตั้งเป้าหมายไว้ที่ 12 คนต่อปี พนักงานกลุ่ม Rising Star จะถูกนำไปวางแผนพัฒนารายบุคคล วางแผนเส้นทางอาชีพ และยังถูกพิจารณาเป็นลำดับแรกในการเข้าสู่แผนผู้สืบทอดตำแหน่งได้อีกด้วย โดยจากโครงการ Rising Start ที่บริษัทฯ เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2564 ทำให้บริษัทฯ มีพนักงานที่สามารถถูกพิจารณาเข้ามาเป็น successor candidate เพิ่มขึ้นจำนวน 3 คน จากกลุ่มพนักงาน Rising Star สะสมทั้งหมด 10 คน
เพื่อความต่อเนื่องทางธุรกิจและเตรียมความพร้อมในการขยายตัวทางธุรกิจ บริษัทฯ ได้ดำเนินการสรรหาและพัฒนาผู้ดำรงตำแหน่งแทนพนักงานระดับผู้บริหารที่ในตำแหน่งสำคัญที่ใกล้เกษียณหรือผู้บริหารที่มีความเสี่ยงอื่นที่อาจทำให้เกิดความไม่ต่อเนื่องทางธุรกิจได้ โดยเน้นวิธีการสรรหาบุคลากรจากภายใน (internal recruitment) ก่อน แล้วจึงสรรหาบุคลากรจากภายนอก เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสในการเติบโตก้าวหน้าในสายอาชีพให้กับพนักงานที่มีศักยภาพในการปฏิบัติงานสูงและมีผลงานดีต่อเนื่อง
ในปี 2566 มีการจัดทำรายชื่อผู้สืบทอดตำแหน่ง ร้อยละ 65 ของตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง โดยมองหาจากผู้มีศักยภาพสูงจากภายในบริษัทฯ ก่อน เพื่อจัดทำแผนพัฒนารายบุคคลต่อไปเพื่อก้าวขึ้นมาทำหน้าที่ผู้นำของหน่วยงานหรือดำรงตำแหน่งระดับบริหาร ทดแทนผู้บริหารที่กำลังจะเกษียณอายุในอีก 1-3 ปีนี้
ในปี 2566 บริษัทฯ ได้มอบหมายให้กลุ่ม successor candidate และกลุ่มพนักงาน Rising Star ได้รับ strategic project assignment เพื่อให้พนักงานได้เรียนรู้งานใหม่นอกเหนือจากงานประจำของตนเองตามที่ได้รับมอบหมาย โดยมีลักษณะการทำงานแบบข้ามสายงาน (cross function) พร้อมทั้งกำหนดให้พนักงานกลุ่มนี้เข้าโปรแกรมพัฒนา Business & Leadership Development Boot Camp รุ่นที่ 1 เพื่อเติมเต็มความรู้ แนวคิด ทักษะ การบริหารโครงการ เครื่องมือทางด้านการจัดการธุรกิจในโลกแห่งการเปลี่ยนแปลงและก้าวไปสู่ความยั่งยืน พัฒนาภาวะผู้นำและการบริหารทีมงานในบทบาทผู้บริหารระดับกลางในการขับเคลื่อนกลยุทธ์ (middle manager as a strategy key driver) เรียนรู้และเข้าใจในการนำข้อมูลและดิจิทัล (data & digital) มาใช้ประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจ ตลอดจนฝึกฝนทักษะการเล่าเรื่องเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและทำให้ผู้มีส่วนได้เสียเกิดความเชื่อมั่นซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะส่งเสริมการบรรลุเป้าหมายทางธุรกิจของบริษัทฯ โดยโปรแกรมนี้จะจัดขึ้นในช่วงต้นปี 2567 ระยะเวลา 6 เดือน มีจำนวนพนักงานที่เข้าโปรแกรมนี้รวม 37 คน โดยผ่านกระบวนการเรียนรู้ทั้งแบบ digital learning และ `การอบรมเชิงปฏิบัติการ (workshop) บริษัทฯ กำหนดเป้าหมายให้มีจำนวนพนักงานที่ผ่านการอบรมในโปรแกรมนี้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80
ในปี 2566 บริษัทฯ ได้ตั้งเป้าหมายจำนวนชั่วโมงอบรมเฉลี่ยของพนักงานเท่ากับ 18 ชั่วโมงต่อคนต่อปี บริษัทฯ ได้พัฒนาหลักสูตรการอบรมทั้งในรูปแบบออฟไลน์ และออนไลน์ โดยมีผู้บริหารและพนักงานได้รับการฝึกอบรมร้อยละ 80.95 จากจำนวนพนักงานทั้งหมด โดยมีจำนวนชั่วโมงอบรมเฉลี่ยเท่ากับ 20.56 ชั่วโมงต่อคนต่อปี ระดับผู้บริหารได้รับการอบรมเฉลี่ย 36.85 ชั่วโมงต่อคนต่อปี และพนักงานระดับปฏิบัติการ 17.77 ชั่วโมงต่อคนต่อปี
บริษัทฯ ได้จัดให้มีการสำรวจระดับความผูกพันของพนักงานต่อองค์กรเป็นประจำทุกปี โดยนำประเด็นที่พนักงานสนใจและคาดหวังจากบริษัทฯ ตลอดจนความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ รวมถึงข้อร้องเรียนต่าง ๆ มาดำเนินการตามความเหมาะสม ซึ่งมีคณะกรรมการบริหารงานทรัพยากรบุคคลเป็นผู้พิจารณาในการพัฒนาโครงการ และรูปแบบการการดูแลพนักงานให้ดียิ่งขึ้น และรายงานผลการดำเนินงานต่อที่ประชุมผู้บริหารระดับสูงและคณะกรรมการบริษัทฯ ต่อไป นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้มีการสื่อสารผลการสำรวจระดับความผูกพันของพนักงานต่อองค์กรให้พนักงานได้รับทราบ และรายงานความคืบหน้าของการบริหารจัดการประเด็นต่าง ๆ ของปีก่อนหน้า ผ่านการประชุมพนักงานประจำไตรมาส รวมถึงการสื่อสารผ่านตัวแทนพนักงานในคณะกรรมการสวัสดิการด้วย
ในปี 2566 พบว่าคะแนนความผูกพันของพนักงานต่อองค์กรเฉลี่ยเท่ากับ 67% ลดลงจากปีก่อนหน้า และยังไม่บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 74% โดยมีประเด็นข้อเสนอแนะจากพนักงานที่ต้องการให้พัฒนาอย่างเร่งด่วน ได้แก่ การสร้าง career path เพื่อรักษาคนเก่ง คนดีมีความสามารถ ให้อยู่กับองค์กรในระยะยาว แผนการปรับปรุงค่างานและโครงสร้างเงินเดือนให้สอดรับกับโครงสร้างบริษัทและลักษณะงานที่ปรับเปลี่ยนไป ตลอดจนการพัฒนาระบบต่าง ๆ ไปสู่การปรับเปลี่ยนที่เป็นดิจิทัลมากขึ้น แผนการสร้างเสริม employee experience ในการสร้างความพึงพอใจและประสบการณ์ที่ดีแบบระยะยาวกับองค์กร ซึ่งบริษัทฯ ได้ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การดูแลพนักงาน ปี 2566 – 2568 และแผนการพัฒนาให้สอดคล้องกับประเด็นที่อยู่ในความสนใจของพนักงานให้มากขึ้น
บริษัทฯ มีการตั้งเป้าหมายให้อัตราการลาออกของพนักงานไม่เกินค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่สำรวจโดยสมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย (Personnel Management Association of Thailand) และบริษัทฯ ได้ตั้งเป้าหมายของอัตราการลาออกของพนักงานของบริษัทฯ ไม่เกินร้อยละ 10 ในปี 2566 มีอัตราการลาออกของพนักงานโดยสมัครใจร้อยละ 7.3 ซึ่งลดลงจากปี 2565 และบรรลุตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ แต่อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ จะยังคงพัฒนาการดูแลพนักงานในทุกด้าน สร้างการมีส่วนร่วมและความผูกพันของพนักงานให้ดียิ่งขึ้น เพื่อรักษาบุคลากรที่มีคุณภาพให้เป็นกำลังสำคัญให้แก่บริษัทฯ ต่อไป
+84 251 3991 007 (South)
+84 203 3567 007 (North)
+85 620 5758 0007
© AMATA CORPORATION PCL. All rights reserved. Web by Toneyes