การพัฒนาชุมชนและสังคม

ความเสี่ยง

การเติบโตของนิคมอุตสาหกรรมย่อมนำมาซึ่งผลกระทบทั้งเชิงบวกและเชิงลบต่อสังคมและชุมชนท้องถิ่น ทั้งด้านเศรษฐกิจ ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านความปลอดภัย ที่มีผลโดยตรงต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนท้องถิ่น หากชุมชนโดยรอบนิคมอุตสาหกรรมไม่ได้รับการดูแลและป้องกันผลกระทบเชิงลบที่ได้รับจากการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ อาจเกิดความเสี่ยงที่จะสูญเสียความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งกับชุมชนและการต่อต้านจากชุมชนในการขยายธุรกิจของบริษัทฯ ในอนาคต ตลอดจนกระทบต่อความเชื่อมั่นและการตัดสินใจของนักลงทุนได้

โอกาส

การพัฒนาชุมชนในมิติต่าง ๆ บริษัทฯ มุ่งหวังให้ชุมชนมีความปลอดภัยและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจากการเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานที่มีคุณภาพอย่างเพียงพอ ซึ่งจะช่วยให้เกิดการยอมรับจากชุมชน (Social License to Operate) รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม ส่งผลให้บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจต่อไปได้อย่างราบรื่น การดำเนินโครงการพัฒนาชุมชนและสังคมเพื่อช่วยส่งเสริมด้านการศึกษา จะทำให้เกิดการพัฒนาคุณภาพแรงงานท้องถิ่นที่เพื่อสนองตอบความต้องการใช้แรงงานมีฝีมือของลูกค้าได้อย่างต่อเนื่อง  ซึ่งจะช่วยสร้างงานสร้างอาชีพให้แก่คนในชุมชนและช่วยพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นให้ดีขึ้นอีกทางหนึ่ง และช่วยสนับสนุนการเติบโตของลูกค้าของบริษัทฯ ในระยะยาว

แนวทางการบริหารจัดการ

จากปรัชญา “ALL WIN” ที่บริษัทฯ ได้ยึดถือเป็นหลักในการดำเนินธุรกิจมาโดยตลอด และมีเป้าหมายในการสร้างการเติบโตทางธุรกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาชุมชนและสังคมอย่างยั่งยืน บริษัทฯ จึงได้กำหนดกลยุทธ์หลักด้านความยั่งยืนที่เชื่อมโยงกับการพัฒนาชุมชนและสังคมในด้านต่าง ๆ และมุ่งเน้นที่ความร่วมมือระหว่างบริษัทฯ ชุมชน ลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมและหน่วยงานภาครัฐ ในการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาชุมชน นอกจากนี้บริษัทฯ ได้นำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (UN Sustainable Development Goals: SDGs) มาใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาชุมชนด้วย

บริษัทฯ ได้กำหนดแนวทางการดำเนินงานเกี่ยวกับการพัฒนาชุมชน โดยมุ่งเน้นการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับชุมชนท้องถิ่นซึ่งเป็นหนึ่งในผู้มีส่วนได้เสียหลัก เพื่อสร้างความเข้าใจและความเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ และเปิดโอกาสให้ประชากรในชุมชนและผู้มีส่วนได้เสียอื่นในสังคมสามารถเข้าถึงบริการที่บริษัทฯดำเนินการ นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมุ่งเน้นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนได้เสียอื่นของบริษัท ฯ เช่น ลูกค้า คู่ค้า และหน่วยงานหลายภาคส่วนในการร่วมกันพัฒนาชุมชนและสังคมส่วนรวม

              บริษัทฯ ได้จัดตั้ง ฝ่ายงานชุมชนสัมพันธ์และกิจกรรมความรับผิดชอบเพื่อสังคม เพื่อขับเคลื่อนโครงการภายใต้เป้าหมายด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนของบริษัทที่เชื่อมโยงกับการพัฒนาชุมชนและสังคม ดูแลและติดตามโครงการพัฒนาชุมชนให้มีประสิทธิภาพ บริษัทฯ ได้ทำการสำรวจปัญหา ความต้องการ และความคาดหวังของชุมชนท้องถิ่นผ่านกระบวนการสร้างความสัมพันธ์กับกลุ่มผู้มีส่วนได้เสีย (stakeholder engagement process) และนำประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนมาพัฒนาเป็นกลยุทธ์และเป้าหมายการดำเนินกิจกรรมของบริษัทฯ โดยบริษัทฯ ได้กำหนดแนวทางในการบริหารจัดการผลกระทบทางสังคม และการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในชุมชน ดังนี้

1.ระบุกลุ่มเป้าหมายและสำรวจพื้นที่

ปัจจุบันการพัฒนาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะทั้งสามแห่งในประเทศไทยของบริษัทฯ นั้น มีพื้นที่กว่า 73 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด คือจังหวัดชลบุรี จังหวัดฉะเชิงเทรา และจังหวัดระยอง มีจำนวนพนักงานที่ทำงานในนิคมอุตสาหกรรมและประชากรอาศัยอยู่ในชุมชนรอบนิคมอุตสาหกรรมรวมทั้งหมดกว่า 1.25 ล้านคน การขยายตัวของนิคมอุตสาหกรรมส่งผลกระทบต่อชุมชนและสังคมโดยรอบ เช่น ความแออัดของประชากรและการสัญจร การขยายตัวของชุมชนเมืองที่เกิดจากการเข้ามาของแรงงานต่างถิ่น ความปลอดภัยทางถนน เป็นต้น ผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ คือชุมชนท้องถิ่นที่อยู่โดยรอบ บริษัทฯจึงได้ให้ความสำคัญกับการดูแลชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่รัศมี 5 กิโลเมตรจากนิคมอุตสาหกรรมอมตะ

นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี มีพื้นที่ที่ดำเนินกิจการอยู่ในปัจจุบันกว่า 44.5 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 5 อำเภอ 31 ตำบล ในจังหวัดชลบุรีและฉะเชิงเทรา มีชุมชนโดยรอบนิคมอุตสาหกรรมในระยะ 5 กิโลเมตรจากขอบพื้นที่โครงการ จำนวน 236 หมู่บ้าน บนพื้นที่กว่า 260 ตารางกิโลเมตร มีประชากรตามทะเบียนบ้านในชุมชนโดยรอบ ประมาณ 227,826 คน (ที่มา : ข้อมูลพื้นฐานเพื่อการวางแผนพัฒนาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจังหวัดชลบุรี และ เวปไซด์ เทศบาล/อบต.) มีประชากรทั้งหมดรวมประชากรแฝงซึ่งย้ายถิ่นที่อยู่อาศัยมาเพื่อทำงานในพื้นที่นี้จำนวน 734,957 คน โดยจำนวนพนักงานที่ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 มีจำนวนกว่า 210,000 คน 

นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง มีพื้นที่ที่ดำเนินกิจการอยู่ในปัจจุบันกว่า 28.6 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 4 อำเภอ 6 ตำบล ในจังหวัดชลบุรีและระยอง มีชุมชนโดยรอบนิคมอุตสาหกรรมในระยะ 5 กิโลเมตรจากขอบพื้นที่โครงการ มีจำนวน 20 หมู่บ้าน มีประชากรตามทะเบียนบ้านในชุมชนโดยรอบ ประมาณ 100,805 คน แต่มีประชากรทั้งหมดรวมประชากรแฝงซึ่งย้ายถิ่นที่อยู่อาศัยมาเพื่อทำงานในพื้นที่นี้จำนวน 220,900 คน (ที่มา: กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ระบบสถิติทางการทะเบียน ประจำปี 2566) โดยจำนวนพนักงานที่ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 มีจำนวนกว่า 85,000 คน

2.สร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น

บริษัทฯ มุ่งมั่นในการสร้างกระบวนการการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียที่อยู่ภายในและโดยรอบนิคมอุตสาหกรรมอมตะในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อเปิดโอกาสให้ชุมชนท้องถิ่นได้สื่อสารถึงความกังวลใจ ปัญหาผลกระทบที่ได้รับ และความต้องการของชุมชนในการร่วมกันพัฒนาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมของอมตะให้เป็นเมืองสมบูรณ์แบบ ที่ชุมชนท้องถิ่นโดยรอบสามารถอยู่ร่วมกับนิคมอุตสาหกรรมได้อย่างมีความสุขและสร้างคุณค่าร่วมกัน

บริษัทฯ ได้จัดตั้งคณะกรรมการชุมชนชุดต่าง ๆ เพื่อเป็นช่องทางในการรับฟังปัญหา ความคาดหวัง และข้อเสนอแนะจากชุมชนเพื่อการปรับปรุงที่ดีขึ้น ตลอดจนให้ข้อเท็จจริง และแก้ไขข้อร้องเรียนอย่างมีประสิทธิภาพ  เพื่อทำให้ผู้มีส่วนได้เสียสำคัญของบริษัทฯ ได้แก่ ชุมชนและหน่วยงานราชการที่ทำหน้าที่กำกับดูแลบริษัทฯ เกิดความเข้าใจในการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ เป็นการสร้างความเชื่อมั่น ความไว้วางใจ  และความผูกพันให้เกิดขึ้นระหว่างกัน

คณะกรรมการชุดต่าง ๆ ประกอบด้วย คณะกรรมการไตรภาคี หรือคณะกรรมการที่มีโครงสร้างของกรรมการมาจากตัวแทนของ ชุมชน หน่วยงานราชการ และบริษัทฯ, คณะกรรมการพัฒนาชุมชนโดยรอบนิคมอุตสาหกรรม Eco-Green Network เป็นต้น โดยแต่ละคณะกรรมการจะมีบทบาทหน้าที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาชุมชนที่อยู่โดยรอบนิคมอุตสาหกรรมทั้งสองแห่งของบริษัทฯ และการเสนอแนะประเด็นที่เป็นกังวลของชุมชน หรือข้อร้องเรียนที่มีต่อการประกอบกิจการของบริษัทฯ

CommitteeObjectives2023 Performance

คณะกรรมการพัฒนาชุมชนโดยรอบนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี ประกอบด้วยกรรมการผู้แทนภาคประชาชน กรรมการผู้แทนภาคราชการ และกรรมการผู้แทนภาคโครงการ จำนวน 97 คน

 

คณะกรรมการพัฒนาชุมชนโดยรอบนิคมอุตสาหกรรมอมตะ ซิตี้ ระยอง ประกอบด้วยกรรมการผู้แทนภาคประชาชน กรรมการผู้แทนภาคราชการ และกรรมการผู้แทนภาคโครงการ จำนวน 29 คน

  • เพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายของบริษัทฯ มีความเชื่อมั่นในการดำเนินงานด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมของบริษัทฯ จากการเปิดเผยผลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม
  • เพื่อเป็นช่องทางในการสื่อสารกับผู้มีส่วนได้เสียของบริษัทฯ โดยเฉพาะชุมชนและหน่วยงานราชการท้องถิ่น ถึงปัญหาและ ผลกระทบจากกิจกรรมในนิคมอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม ข้อเสนอแนะและแนวทางการแก้ไข รวมถึงการพัฒนาชุมชน
  • ในปี 2566 คณะกรรมการพัฒนาชุมชนโดยรอบนิคมอุตสาหกรรมของทั้งสองนิคมอุตสาหกรรมได้มีการประชุม 2 ครั้ง 
  • คณะกรรมการพัฒนาชุมชนโดยรอบนิคมอุตสาหกรรมอมตะทั้งสองแห่งมีความพอใจในผลดำเนินงานด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมของบริษัทฯ และมีความเชื่อมั่นในการจัดการสิ่งแวดล้อมของบริษัทฯ ว่าเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด  
  • คณะกรรมการพัฒนาชุมชนโดยรอบนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง มีความสนใจในประเด็นเรื่อง การจราจร การจัดการน้ำเสีย และการกระจายรายได้สู่ชุมชน 

Eco-Green Network:
คณะทำงานโครงการพัฒนาและเชื่อมโยงเครือข่ายการดำเนินงานด้าน CSR+ECO+Environment & Safety +CG หรือ Eco-Green Network ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี และอมตะซิตี้ ระยอง

คณะทำงานประกอบด้วยตัวแทนจากบริษัทฯ ผู้ประกอบการในนิคม ชุมชนท้องถิ่น หน่วยงานราชการท้องถิ่น โรงพยาบาล และโรงเรียน

  • เพื่อยกระดับและพัฒนานิคมอุตสาหกรรมของอมตะสู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ โดยการสร้างสมดุลใน 5 มิติ ได้แก่ มิติกายภาพ มิติเศรษฐกิจ มิติสิ่งแวดล้อม มิติสังคม และมิติการบริหารจัดการ
  • เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม โดยเฉพาะผู้ประกอบการในนิคม ชุมชนและหน่วยงานราชการท้องถิ่น มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนนิคมอุตสาหกรรมอมตะมุ่งสู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ
  • เพื่อเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ผลการดำเนินงานเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศของนิคมอุตสาหกรรมอมตะต่อสาธารณชน
  • ในปี 2566 คณะทำงาน Eco-Green Network ของนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี จัดการประชุม 1 ครั้ง และคณะทำงาน Eco-Green Network ของนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง จัดการประชุม 1 ครั้ง 
  • คณะกรรมการร่วมกันพิจารณาแผนงานและโครงการที่จะดำเนินงานเพื่อการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมมุ่งสู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ประจำปี 2566 
  • คณะทำงาน Eco-Green Network ของนิคมอุตสาหกรรมอมตะ ซิตี้ ชลบุรี ให้ความสนใจเป็นพิเศษในเรื่อง การจัดการน้ำเสียชุมชน การจัดการขยะชุมชน การแก้ปัญหาจราจร และการใช้พลังงานทางเลือก เช่น solar Cell
  • คณะทำงาน Eco-Green Network ของนิคมอุตสาหกรรมอมตะ ซิตี้ ระยอง มีความสนใจเป็นพิเศษในเรื่อง การจัดการน้ำเสีย การแก้ปัญหาจราจร และสนับสนุนอาชีพเพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชน 

3. การประเมินผลกระทบที่มีต่อชุมชนท้องถิ่น

การประเมินผลกระทบทางสังคม เป็นหนึ่งในกระบวนการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment; EIA) โดยการประเมินผลกระทบทางสังคม บริษัทฯ ใช้วิธีการวิเคราะห์ผู้มีส่วนได้เสียตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Stakeholder Analysis) เพื่อวิเคราะห์กิจกรรมทางธุรกิจที่ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อผู้มีส่วนได้เสีย ประกอบกับการสำรวจทัศนคติชุมชน ซึ่งบริษัทฯ ได้ดำเนินการเป็นประจำทุกปีตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมในช่วงระหว่างการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ

ในปี 2566 บริษัท อมตะซิตี้ ระยอง จำกัด ร่วมกับบริษัท เอสเอส คอนซัลแทนท์ คอร์ปอเรชั่น และหน่วยงานราชการท้องถิ่นได้จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชน จำนวน 3 ครั้ง ในเดือนมีนาคมและมิถุนายน 2566  ณ หอเฉลิมพระเกียรติ อ่างเก็บน้ำดอกกราย อ.ปลวกแดง จ.ระยอง ศาลาสร้างสุข (บ้านหนองระกำ) ต.พนานิคม อ.นิคมพัฒนา จ.ระยอง และหอประชุม อบต.บ่อวิน ต.บ่อวิน อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี โดยเชิญประชาชนในชุมชนและหน่วยงานส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องมารับฟังข้อมูลของโครงการนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง (ส่วนขยาย) ระยะที่ 6 แนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม รายงานและมาตรการป้องกัน แก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมถึงมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม และเปิดโอกาสให้ชุมชนเสนอแนะความคิดเห็นได้อย่างครอบคลุมครบถ้วน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินโครงการต่อไป การประชุมทั้งหมดนี้ มีผู้แทนจากหน่วยงานราชการในพื้นที่ ประชาชน และสื่อมวลชน สนใจเข้าร่วมการประชุมกว่า 1,000 คน

จากผลการสำรวจทัศนคติของชุมชนและความคาดหวังจากคณะกรรมการชุมชนชุดต่าง ๆ ในปี 2566 สามารถสรุปผลกระทบทางสังคมที่เกิดขึ้นได้เป็น 2 ประเด็นที่ชุมชนให้ความสำคัญในการจัดการอย่างมาก ได้แก่ 1) ปัญหาการจราจร 2) ปัญหาด้านเศรษฐกิจชุมชน  นอกจากนี้ ชุมชนมีความคาดหวังในเรื่องการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การจัดการขยะและน้ำเสีย และการสนับสนุนด้านการศึกษาด้วย

4. ออกแบบโครงการและกิจกรรมเพื่อตอบสนอง

บริษัทฯ ได้กำหนดกลยุทธ์การพัฒนาชุมชนและรูปแบบกิจกรรมต่างๆให้สอดคล้องกับความต้องการและความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียแต่ละกลุ่มอย่างเหมาะสม โดยร่วมมือกันระหว่างบริษัทฯ ลูกค้าผู้ประกอบการในนิคม ภาครัฐ หน่วยงานท้องถิ่น และชุมชน ภายใต้กรอบการพัฒนาชุมชน 5 ด้าน ที่สนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (UN Sustainable Development Goals: UN SDGs) อีกทางหนึ่งด้วย โดยกำหนดเป้าหมายของการพัฒนาชุมชนในปี 2566 ที่คะแนนความพึงพอใจของชุมชนที่มีต่ออมตะ ไม่น้อยกว่า 85%

ในปี 2566 บริษัทฯ ได้ดำเนินกิจกรรมและโครงการจำนวนทั้งสิ้น 21 โครงการ  โดยใช้งบประมาณในการลงทุนทางสังคม (ไม่รวมเงินบริจาค) รวม 5.66 ล้านบาท  มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งสิ้น 42,624 คน  และผู้ที่ได้รับประโยชน์ทั้งทางตรง และทางอ้อมจากกิจกรรมและโครงการที่บริษัทฯ ดำเนินการจำนวนกว่า 188,460 คน

  • การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน

    การเติบโตของนิคมอุตสาหกรรมนั้นส่งผลกระทบทั้งเชิงบวกและเชิงลบต่อระบบเศรษฐกิจของชุมชนท้องถิ่น เช่น การกระจายรายได้ การเพิ่มขึ้นของความต้องการแรงงาน หรือ การเกิดขึ้นของความต้องการสินค้าหรือบริการ ในขณะที่การเติบโตของเมืองทำให้ค่าครองชีพของชุมชนสูงขึ้น ปัญหาด้านเศรษฐกิจชุมชนจึงเป็นเรื่องที่ชุมชนคาดหวังให้บริษัทฯ ช่วยจัดการ สอดคล้องกับปรัชญาการดำเนินธุรกิจ “ALL WIN” ของบริษัทฯ ที่ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นให้พัฒนาไปพร้อมกับการเติบโตของนิคมอุตสาหกรรม บริษัทฯ จึงใช้กลยุทธ์ในการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับผู้มีส่วนได้เสียในชุมชนทุกกลุ่ม เช่น ผู้ประกอบการท้องถิ่น กลุ่มวัยแรงงาน กลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มผู้ด้อยโอกาสทางสังคม โดยสนับสนุนการจ้างงานในท้องถิ่น และพัฒนาโครงการเพื่อตอบสนองความต้องการ และพัฒนากลุ่มผู้มีส่วนได้เสียในชุมชนดังกล่าว ให้สามารถสร้างอาชีพ สร้างรายได้ และพึ่งพิงตัวเองได้อย่างยั่งยืน

    โครงการ Farm to Factory

    จากผลการสำรวจชุมชนท้องถิ่นของบริษัทฯ พบว่า ชุมชนมีผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร และสินค้าแปรรูปจำนวนมากที่ต้องการเพิ่มช่องทางการตลาด บริษัทฯ มองเห็นว่าโรงงานจำนวนมากในนิคมอุตสาหกรรม และพนักงานที่ทำงานในโรงงานเป็นตลาดใหญ่ที่มีความต้องการผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรจำนวนมาก  ดังนั้น บริษัทฯ จึงได้จัดโครงการ Farm to Factory” ขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมมีการซื้อขายระหว่างโรงงานในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะทั้งสองแห่งกับชุมชนท้องถิ่น เป็นการสนับสนุนให้ชุมชนท้องถิ่นได้มีโอกาสขายสินค้าได้ในระยะยาวโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและสินค้าแปรรูป สามารถสร้างเศรษฐกิจท้องถิ่นให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน และผู้ซื้อได้รับสินค้าที่สดใหม่และมีคุณภาพจากผู้ผลิตโดยตรง

    บริษัทฯ ได้เริ่มต้นทำโครงการ Farm to Factory ร่วมกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยในปี 2561 โดยใช้นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี เป็นพื้นที่นำร่อง เพื่อให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่อยู่ในชุมชนเป้าหมายโดยรอบพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี ที่ผลิตและพัฒนาสินค้าของชุมชน ได้มีช่องทางในการจัดจำหน่ายสินค้า และสร้างรายได้ให้กับสมาชิกของกลุ่มฯ  ทั้งนี้ บริษัทฯ ทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างชุมชนท้องถิ่นกับโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมในการซื้อขายผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร โดยบริษัทฯ และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้เข้าไปช่วยยกระดับมาตรฐานสินค้าให้ตรงตามความต้องการของผู้ซื้อด้วย 

    ในปี 2566 มีโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี และอมตะซิตี้ ระยอง เข้าร่วมโครงการ “Farm to Factory”  จำนวน 30โรงงาน (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566)  และ ชุมชนท้องถิ่นจากจังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง จำนวน 30 ชุมชน เข้าไปจำหน่ายสินค้าให้กับโรงงานเฉลี่ยอยู่ที่ 30 ครั้ง/เดือน และมีเงินรายได้จากการจำหน่ายสินค้าในปี 2566 จำนวนรวม 8.21 ล้านบาท คิดเป็นรายได้เฉลี่ย 274,000 บาทต่อชุมชนต่อปี

    กิจกรรม อมตะชวนช้อปของดีเพื่อนบ้านชุมชน

    บริษัทฯ ได้จัดกิจกรรม “อมตะชวนช้อปของดีเพื่อนบ้านชุมชน ผ่านช่องทางไลฟ์สด เฟซบุค เพื่อเพิ่มพื้นที่ประชาสัมพันธ์สินค้าชุมชนให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างยิ่งขึ้น โดยจัดกิจกรรมในเดือนสิงหาคม 2566 ณ ลานโชว์เคส ตึกอมตะเซอร์วิส เซนเตอร์ อมตะซิตี้ ชลบุรี สินค้าที่ร่วมกิจกรรมจากชุมชนโดยรอบจาก 13 ชุมชน รวมรายได้จากการจำหน่ายสินค้าทั้งหมดกว่า 21,050 บาท

    การพัฒนาช่องทางการขายสินค้าออนไลน์

    บริษัทฯ ยังได้พัฒนาช่องทางการขายสินค้าออนไลน์ของชุมชนบนเว็บไซต์ https://amatachuanshop.com/  เพื่อเพิ่มช่องทางการขายให้กับสินค้าชุมชนให้เข้าถึงผู้ซื้อได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีสินค้าจากชุมชนทั้งอมตะซิตี้ ชลบุรี และอมตะซิตี้ ระยอง จำนวนกว่า 16 รายการ บนเว็บไซต์ดังกล่าว

    การพัฒนาอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ให้ชุมชน

    โครงการพัฒนาอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ให้ชุมชน เป็นโครงการที่บริษัทฯ ได้ริเริ่มจัดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2565 และยังคงจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องให้แก่ชุมชนที่อยู่โดยรอบนิคมอุตสาหกรรมอมตะ ทั้งอมตะซิตี้ ชลบุรี และ อมตะซิตี้ ระยอง ด้วยเล็งเห็นความสำคัญด้านการส่งเสริมเศรษฐกิจท้องถิ่นและเกิดการสร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชน บริษัทฯ จึงได้จัดหลักสูตรอบรมให้ความรู้แก่ชุมชนเพื่อสามารถนำไปสู่การต่อยอดสร้างรายได้จากการประกอบอาชีพเสริมต่างๆ ได้ อาทิ การทำอาหาร การทำของใช้ในครัวเรือน งานสิ่งประดิษฐ์ ต่างๆ เป็นต้น ที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้จัดอบรมอาชีพไปแล้วมากกว่า 10 อาชีพ อาทิ การผูกผ้าจับจีบ การทำไม้กวาดทางมะพร้าว การทำสลัดโรล การทำแคบหมู การทำเต้าหู้นมสด การเพาะเห็ดนางฟ้า การทำตุ๊กตาผ้า ฯลฯ มีผู้มาเข้าร่วมรับการอบรมแล้วกว่า 300 คน

     ในปี 2566 บริษัทฯ ได้มีการจัดฝึกอบรมความรู้สร้างอาชีพเพิ่มเติมอีก 5 อาชีพ โดยแบ่งเป็น 2 พื้นที่ ได้แก่

    • ชุมชนรอบพื้นที่อมตะซิตี้ ชลบุรี จัดกิจกรรมอบรมอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ ขึ้น 2 ครั้ง ดังนี้

    ครั้งที่ 1/2566 จัดอบรมอาชีพ“การทำขนมลูกชุบ” ให้แก่ชุมชนตำบลบ้านเก่า จ.ชลบุรี มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมจำนวน 30 คน

    ครั้งที่ 2/2566 จัดอบรมอาชีพ “การทำขนมจีบและตะโก้” ให้แก่ชุมชนตำบลพานทอง จ.ชลบุรี มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมจำนวน 35 คน

    • ชุมชนรอบพื้นที่อมตะซิตี้ ระยอง จัดกิจกรรมอบรมอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ ขึ้น 2 ครั้ง ดังนี้

    ครั้งที่ 1/2566 จัดอบรมอาชีพ “การทำเต้าหู้นมสด และสลัดโรล” ให้แก่ชุมชนตำบลบ่อวิน จ.ชลบุรี มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมจำนวน 30 คน

    ครั้งที่ 2/2566 จัดอบรมอาชีพ “การทำสลัดโรล” ให้แก่ชุมชนตำบลปลวกแดง จ.ระยอง มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมจำนวน 60 คน 

    การสนับสนุนการพัฒนาสินค้าชุมชน กลุ่มแม่บ้านอ่างเก็บน้ำดอกกราย

    กลุ่มแม่บ้านอ่างเก็บน้ำดอกกราย ต.พนานิคม อ.นิคมพัฒนา จ.ระยอง ซึ่งเป็นชุมชนที่อยู่ใกล้กับนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง ได้รวมตัวจัดตั้งกลุ่มชุมชน จัดทำน้ำพริกปลาป่น  ทอดมันปลากราย และผลิตภัณฑ์ล่าสุด ที่ทางกลุ่มเริ่มดำเนินการในปลายปี 2565  คือ ปลาส้มดอกกราย เพื่อจัดจัดหน่าย แต่เนื่องจากปลาส้มดอกกราย ยังไม่มีฉลากที่เหมาะสม ในปี 2566 บริษัทฯ จึงจัดให้มีโครงการจัดทำฉลากเพื่อสนับสนุนสินค้าชุมชนขึ้น เพื่อช่วยพัฒนาและยกระดับสินค้าของชุมชนแห่งนี้ โดยช่วยออกแบบโลโก้ปลาส้มดอกกราย จัดทำสติกเกอร์และนำไปมอบให้กับกลุ่มแม่บ้านดอกกราย เพื่อสร้างมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ต่อไป

    โครงการคาวานอมตะ สร้างรอยยิ้ม

    โครงการคาวานอมตะ สร้างรอยยิ้ม เป็นกิจกรรมที่บริษัทฯ จัดขึ้นเพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนของ ชุมชนโดยรอบนิคมอุตสาหกรรมอมตะโดยหมุนเวียนพื้นที่เพื่อกระจายความช่วยเหลืออย่างทั่วถึง โดยบริษัทฯ ร่วมกับพันธมิตรจากโรงงานผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมอมตะ และหน่วยงานภายนอก อาทิ วิทยาลัย อี.เทค ชลบุรี  ศูนย์การศึกษา กศน. ชลบุรี, วิทยาลัยเทคนิคบ้านค่าย จ.ระยอง บริษัท ฮอนด้าเอเซีย สาขาบ่อวิน จ.ชลบุรี เจ้าหน้าที่ อสม. หรือ รพสต. ออกหน่วยเคลื่อนที่ไปยังตำบลต่าง ๆ โดยรอบนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี และ อมตะซิตี้ ระยอง ร่วมกันให้บริการขั้นพื้นฐานแก่ประชาชนโดยไม่มีค่าใช้จ่าย เช่น บริการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องรถจักรยานยนต์ บริการตัดผม บริการตรวจสุขภาพเบื้องต้น ซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า เปิดบูธกิจกรรมเกมสันทนาการ เลี้ยงอาหารกลางวันแก่ผู้มาร่วมกิจกรรม เป็นต้น ซึ่งกิจกรรมคาราวานอมตะได้รับความสนใจจากชุมชนเป็นอย่างมาก

    กิจกรรมดังกล่าวได้จัดมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2562 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566  ให้บริการแก่ชุมชนมาแล้วรวม 47 ชุมชน สามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายให้คนในชุมชนได้รวมกว่า 2,080,000 บาท มีประชาชนเข้ารับบริการกว่า 5,000 คน

    ในปี  2566 ที่ผ่านมานิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี  ได้จัดโครงการคาราวานอมตะ สร้างรอยยิ้ม เคลื่อนที่ให้บริการชุมชนรวม 11 พื้นที่ใน 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดชลบุรี และจังหวัดฉะเชิงเทรา โดยร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่นดังนี้ เทศบาลตำบลหนองตำลึง เทศบาลตำบลดอนหัวฬ่อ เทศบาลตำบลคลองตำหรุ อบต.เกาะลอยบางหัก อบต.บ้านเก่า อบต.คลองตำหรุ อบต.นาป่า กำนันตำบลบางนาง จ.ชลบุรี เทศบาลตำบลบ้านโพธิ์ เทศบาลตำบลแสนภูดาษ และ อบต.หนองตีนนก จ.ฉะเชิงเทรา

    นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง  ได้จัดโครงการคาราวานเคลื่อนที่ให้บริการชุมชนรวม 2 พื้นที่ โดยร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่นดังนี้ อบต. เขาไม้แก้ว จ.ชลบุรี และ อบต.มาบยางพร จ.ระยอง

  • ดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม

    โครงการชุมชนต้นแบบด้านการจัดการน้ำและขยะอย่างยั่งยืน

    นอกจากบริษัทฯ จะให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการน้ำและขยะที่เกิดขึ้นภายในนิคมฯ แล้ว บริษัทฯ ยังตระหนักถึงการดูแลชุมชนโดยรอบนิคมอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของบริษัทฯ ด้วย  เนื่องจากการขยายธุรกิจของบริษัทฯ ส่งผลให้มีประชากรอยู่อาศัยกันอย่างหนาแน่นในชุมชนโดยรอบนิคมอุตสาหกรรม บริษัทฯ จึงได้จัดทำโครงการชุมชนต้นแบบด้านการจัดการน้ำและขยะอย่างยั่งยืนขึ้นในปี 2560 โดยใช้ความชำนาญและประสบการณ์ในการบริหารจัดการน้ำและขยะของบริษัทฯ  ในการพัฒนาชุมชนต้นแบบ ให้ประชาชนในชุมชนเกิดความรู้และความเข้าใจในการกำจัดขยะมูลฝอยอย่างถูกวิธีและสามารถคัดแยกขยะตามหลัก 3Rs  เพื่อนำขยะไปใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าและสร้างมูลค่าเพิ่มตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ช่วยลดผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะลดผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อแหล่งน้ำชุมชน จากการทิ้งขยะและปล่อยน้ำเสียครัวเรือนลงในแหล่งน้ำ บริษัทฯ ได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงานในการดำเนินโครงการ อาทิ เทศบาลหนองไม้แดง ผู้ประกอบการตลาดนินจา ผู้ประกอบการตลาดนัดกำนันดำ โรงเรียนบ้านห้วยสาลิกา โรงเรียนอนุบาลวัดอู่ตะเภา เทศบาลตำบลคลองตำหรุ เป็นต้น

    เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2566 บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) จัดพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือโครงการ “พัฒนาชุมชนด้านการจัดการน้ำและขยะอย่างยั่งยืน” ระยะที่ 3 ร่วมกับ 9 หน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ เทศบาลตำบลดอนหัวฬ่อ, เทศบาลตำบลหนองไม้แดง, เทศบาลตำบลนาป่า, การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.), บริษัท อมตะ ยู จำกัด, บริษัท อมตะ ฟาซิลิตี้ เซอร์วิส จำกัด, บริษัท อมตะ บี.กริม เพาเวอร์ 1 จำกัด, บริษัท อาควา นิชิฮาร่า คอร์ปอเรชั่น จำกัด และบริษัท ยูไนเต็ด แอนนาลิสต์ แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด เพื่อร่วมกันดูแลฟื้นฟูและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมพื้นที่ชุมชนโดยรอบนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี ณ เทศบาลตำบลดอนหัวฬ่อ

     โครงการดังกล่าวได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยในระยะที่ 3 นี้ จะเริ่มดำเนินการในปี 2566 – 2568 เพื่อดูแล รักษาและฟื้นฟูคุณภาพของสิ่งแวดล้อม บริเวณชุมชนในพื้นที่โดยรอบของนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี ให้มีคุณภาพที่ดีขึ้น โดยคัดเลือกพื้นที่คลองรับน้ำ “คลองสันตะไพร” ซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่เทศบาลตำบลดอนหัวฬ่อและเทศบาลตำบลหนองไม้แดง มีต้นน้ำส่วนหนึ่งมาจากพื้นที่เทศบาลตำบลนาป่า รวมทั้งยังเป็นการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ราชการส่วนท้องถิ่น ผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรม บริษัทเอกชน และชุมชนโดยรอบ สำหรับโครงการนี้มีการดำเนินการไปแล้วในระยะที่ 1 เริ่มดำเนินการในปี 2561 – 2563 ในพื้นที่คลองรับน้ำ-คลองตำหรุ ของเทศบาลตำบลหนองไม้แดง เป็นพื้นที่กลางน้ำซึ่งเชื่อมต่อนิคมอุตสาหกรรม และระยะที่ 2 เริ่มดำเนินในปี 2565 – 2566 ในพื้นที่คลองรับน้ำ-คลองหัวทองหลาง ในเขตพื้นที่เทศบาลตำบลคลองตำหรุเป็นพื้นที่เชื่อมต่อกับโครงการระยะที่ 1 เป็นพื้นที่ปลายน้ำก่อนไหลลงสู่ทะเล

    การดำเนินงานอย่างต่อเนื่องในโครงการชุมชนต้นแบบด้านการจัดการน้ำและขยะอย่างยั่งยืนส่งผลให้ผลการตรวจวัดค่า BOD ของแหล่งน้ำในชุมชนที่ดำเนินโครงการ ณ จุดวัดคุณภาพน้ำบริเวณประตูระบายน้ำคลองตำหรุในปี 2566  มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 6.2 mg/L ซึ่งลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2560 บรรลุเป้าหมายที่บริษัทฯ กำหนดไว้ให้คุณภาพของน้ำจากแหล่งน้ำชุมชนมีค่า BOD (Biochemical Oxygen Demand)ไม่เกิน 10 mg/L ซึ่งเป็นค่าที่ดีกว่าค่ามาตรฐานของกรมควบคุมมลพิษที่กำหนดไว้ที่ไม่เกิน 20 mg/L

    โครงการอุทยานพี่อุทยานน้องร่วมแบ่งปันทรัพยากรและองค์ความรู้ (SPARK)

    มูลนิธิอมตะได้ดำเนินโครงการอุทยานพี่อุทยานน้องร่วมแบ่งปันทรัพยากรและองค์ความรู้ (Sister Parks Arrangement for Resources and Knowledge Sharing: SPARK) ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และองค์กร International Conservation Caucus Foundation (ICCF) ประเทศสหรัฐอเมริกา อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2556 เพื่อช่วยยกระดับอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่สู่มาตรฐานอุทยานระดับโลก และใช้เป็นอุทยานฯ นำร่องเพื่อเป็นต้นแบบการเรียนรู้ด้านการบริหารจัดการแก่อุทยานแห่งชาติอื่น ๆ ในประเทศไทยและในภูมิภาคอาเซียน

    จากผลการศึกษาของผู้เชี่ยวชาญจาก ICCF เมื่อปี 2558 พบว่ามีประเด็นเร่งด่วนประเด็นหนึ่งที่ควรต้องเร่งดำเนินการในทันที ได้แก่ การจัดการน้ำเสีย เพื่อให้มั่นใจว่าคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำทั้งภายในและภายนอกอุทยานจะไม่ได้รับผลกระทบเชิงลบจากการใช้น้ำของนักท่องเที่ยวและเจ้าหน้าที่อุทยาน เนื่องจากผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่เป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญของไทย ซึ่งไหลลงสู่แม่น้ำสายหลักทั้ง 5 ของประเทศ ได้แก่ แม่น้ำนครนายก แม่น้ำปราจีนบุรี แม่น้ำลำตะคอง แม่น้ำมวกเหล็ก และแม่น้ำมูล การจัดการน้ำเสียในอุทยานแห่งชาติจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง

    มูลนิธิอมตะและบริษัท อมตะ ยู จำกัด (บริษัท อมตะ วอเตอร์ เดิม) จำกัด ซึ่งมีความรู้ความชำนาญในด้านการบริหารจัดการน้ำ ร่วมกับพันธมิตรคู่ค้าของบริษัทฯ ผู้เชี่ยวชาญจาก ICCF และเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จึงได้เข้าไปช่วยพัฒนาการจัดการน้ำเสียบนอุทยานฯ โดยมีการดำเนินงานในปี 2566 ดังนี้

    1. ติดตั้งมิเตอร์วัดปริมาณน้ำ จำนวน 5 ตัว เพื่อสามารถเก็บสถิติปริมาณการใช้น้ำได้ในจุดที่จำเป็น (ได้รับการสนับสนุนมิเตอร์วัดปริมาณน้ำจาก บริษัท อมตะ ยู จำกัด)
    2. เก็บสถิติปริมาณการใช้น้ำ และจำนวนนักท่องเที่ยว ณ ลานกางเต็นท์ลำตะคอง และศูนย์บริการนักท่องเที่ยวตลอดทั้งปี เพื่อคำนวณและออกแบบระบบที่มีความเหมาะสม คุ้มค่า และมีประสิทธิภาพมากที่สุด
    3. สำรวจสภาพพื้นดิน และระดับความชัน เพื่อหาจุดในการวางผังระบบบำบัดน้ำเสียที่เหมาะสมที่สุด
    4. เสนอโครงการ พร้อมร่างแบบระบบบำบัดน้ำเสีย ณ ลานกางเต็นท์ลำตะคอง เสนอต่อคณะกรรมการที่ปรึกษาอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วม และเป็นไปตามระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติ

    กิจกรรม Big Cleaning Day

    ในปี 2566 บริษัทฯ จัดกิจกรรม Big Cleaning Day ร่วมกับชุมชนที่อยู่โดยรอบนิคมอุตสาหกรรมกรรมอมตะจำนวน 2 ครั้ง

    ครั้งที่ 1 เดือนมิถุนายน 2566  จัดกิจกรรม Big cleaning “หน้าบ้านน่ามอง” ที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี โดยทีมงานชุมชนสัมพันธ์ พนักงานจากบริษัทในกลุ่มอมตะ และผู้ประกอบการภายในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี ร่วมกับ เทศบาลคลองตำหรุ จ.ชลบุรี ทำการปรับภูมิทัศน์เก็บขยะ คืนความสะอาดสวยงามบริเวณถนนสุขุมวิทด้านหน้านิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี โดยมีผู้ประกอบการเข้าร่วมจำนวนกว่า 60 คน ร่วมกันทำความสะอาด ริมถนนรวมระยะทางยาวกว่า 2 กิโลเมตร

    ครั้งที่ 2 เดือนธันวาคม 2566 บริษัทฯ ร่วมกับ สำนักงานนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี ผู้ประกอบการภายในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี หน่วยงานท้องถิ่นโดย องค์การบริหารส่วนตำบลพานทองหนองกะขะ ผู้นำท้องถิ่นตำบลหนองกะขะ จ.ชลบุรี นักเรียนโรงเรียนวัดบ้านงิ้ว รวมถึงประชาชนจิตอาสา ในพื้นที่กว่า 200 คน จัดกิจกรรม “Big Cleaning Day”  จิตอาสาทำความดี ถวายเป็นพระราชกุศล แด่ในหลวงรัชกาลที่ 9” เพื่อแสดงออกถึงความจงรักภักดี และน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ เนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันชาติ และวันพ่อแห่งชาติ วันที่ 5 ธันวาคม รวมทั้งเป็นการดูแลรักษาความสะอาดเรียบร้อยพื้นที่ชุมชน ประกอบด้วย 2 กิจกรรมได้แก่

    1.การทำความสะอาดเก็บขยะพื้นที่บริเวณไหล่ทาง ถนนความยาวประมาณ 500 เมตร จากบริเวณวัดบ้านงิ้ว ถึง ที่ทำการกำนันตำบลหนองกะขะ

    2.การทำความสะอาดพื้นที่ภายในบริเวณวัดบ้านงิ้ว ซึ่งเป็นศูนย์รวมของชุมชน ได้แก่ การกวาดลานเอนกประสงค์ ทำความสะอาดรอบบริเวณโบสถ์ และทำความสะอาดห้องน้ำจำนวนรวม 20 ห้อง ให้สะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อยน่ามอง และพร้อมต้อนรับประชาชนที่จะเข้ามาทำบุญในช่วงเทศกาลปีใหม่

    กิจกรรมดังกล่าวนอกจากจะส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการร่วมกันการดูแลสิ่งแวดล้อมของชุมชน และสร้างจิตสำนึกให้เยาวชนและประชาชนทั่วไปให้ความสำคัญในการรักษาความสะอาดโดยเริ่มจากบ้านและชุมชนของตนเอง รวมถึงรณรงค์และปลูกฝังนิสัยการทิ้งขยะให้ถูกที่แล้ว ยังช่วยส่งเสริมความเชื่อมั่นและความสัมพันธ์อันดีระหว่างบริษัทฯ และกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียที่ให้ความสำคัญเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งบริษัทฯ  มีแผนในการดำเนินกิจกรรมนี้อย่างต่อเนื่องโดยจะขยายโครงการสู่พื้นที่อื่น ๆ โดยรอบนิคมอุตสาหกรรมของอมตะต่อไป

  • สนับสนุนความปลอดภัยและการมีสุขภาพที่ดี

    ส่งเสริมความปลอดภัยบนท้องถนน 

    นิคมอุตสาหกรรมอมตะทั้งสองแห่ง มีพนักงานที่ทำงานภายในพื้นที่กว่า 295,000 คน จากผลการสำรวจข้อมูลการใช้รถใช้ถนนภายในนิคมอุตสาหกรรมอมตะ พบว่ามียานพาหนะที่ใช้เส้นทางสัญจรภายในพื้นที่กว่า 119,400 คันต่อวัน จำแนกเป็นรถโดยสารรับ-ส่งพนักงาน จำนวน 1,900 คัน รถยนต์โดยสารส่วนบุคคลจำนวน 49,000 คัน และรถจักรยานยนต์จำนวน 68,500 คัน ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุทางท้องถนนค่อนข้างสูง บริษัทฯ จึงได้มีการบริหารจัดการจราจรอย่างเข้มงวด และจัดให้มีแผนบริหารจัดการความปลอดภัยทางท้องถนนที่มีการบูรณาการทุกภาคส่วนในการร่วมกันบริหารจัดการจราจรภายในนิคมอุตสาหกรรมอมตะและถนนสาธารณะในพื้นที่ต่อเนื่องกับนิคมอุตสาหกรรมอมตะ ตามแนวทาง ‘6E Concept’ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่หัวข้อ การสร้างสังคมแห่งความปลอดภัย หน้า xx

    บริษัทฯ ได้นำข้อมูลสถิติการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน เช่น สาเหตุ และรูปแบบของการเกิดอุบัติเหตุ มาวิเคราะห์เพื่อใช้ในกระบวนการบริหารจัดการ และแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากโครงสร้างของถนนและรูปแบบของช่องทางเดินรถ  และรณรงค์สร้างความตระหนักในการปฏิบัติตามกฎหมายจราจร การสวมหมวกนิรภัย การคาดเข็มขัดนิรภัย การขับขี่ตามกฎหมายจราจร และน้ำใจบนท้องถนน โดยดำเนินการเชิงรุก ในการสร้างความตระหนักในด้านความปลอดภัยทางท้องถนนทั้งในนิคมอุตสาหกรรมและในชุมชนและโรงเรียนในพื้นที่ใกล้เคียง

    ในปี 2566 บริษัทฯ ได้จัดการอบรมด้านวินัยจราจร วิธีปฏิบัติหากเกิดเหตุเด็กติดอยู่ในรถ ร่วมกับการอบรมดับเพลิงเบื้องต้นและซ้อมอพยพหนีไฟ ให้กับศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านหนองประดู่ ต.ห้างสูง อ.หนองใหญ่ จ.ชลบุรี และโรงเรียนสิรศาสตร์ศึกษา ที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี 

    โครงการครูอาสาให้ความรู้หลักสูตรการดับเพลิงเบื้องต้น

    บริษัทฯ ได้จัดการอบรมการดับเพลิงเบื้องต้น ซึ่งหลักสูตรนี้เป็นหนึ่งในวิชาเรียนของโครงการครูอาสาที่บริษัทฯ ได้จัดขึ้น ให้กับโรงเรียนบ้านย่านซื่อ ต.บ้านเก่า อ.พานทอง จ.ชลบุรี ซึ่งอยู่ห่างจากนิคมฯ ประมาณ 3 กิโลเมตร และโรงเรียนวัดพานทอง ต.พานทอง อ.พานทอง จ.ชลบุรี ซึ่งอยู่ห่างจากนิคมฯ ประมาณ 10 กิโลเมตร เพื่อให้นักเรียนและคณะครูได้เข้าใจและเรียนรู้ถึงวิธีการดูแลและช่วยเหลือตนเองในกรณีเกิดอัคคีภัย และมีทักษะในการใช้เครื่องดับเพลิงชนิดต่างๆ ได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิผล สามารถลดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินได้

    โครงการบริจาคโลหิต “100 ล้านซีซี โลหิตชาวอมตะเพื่อสภากาชาดไทย”

    นิคมอุตสาหกรรมอมตะทั้งสองแห่ง เป็นนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มีพนักงานทำงานอยู่ภายในจำนวนมาก ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ และมีประชาชนในชุมชนโดยรอบจำนวนรวมกันกว่า 500,000 คน จึงเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงในการรับบริจาคโลหิตเพื่อเป็นแหล่งโลหิตสำรองให้กับสภากาชาดไทย

    บริษัทฯ จึงได้จัดกิจกรรมรับบริจาคโลหิตจากพนักงานภายในสถานประกอบการและประชาชนทั่วไปที่อยู่โดยรอบมาอย่างต่อเนื่องรวมระยะเวลากว่า 12 ปี โดยในปี 2565 เป็นต้นมา บริษัทฯ ได้ตั้งเป้าหมายเพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียในการบริจาคโลหิตให้ได้ปริมาณเพิ่มขึ้นโดยได้ดำเนินการภายใต้ชื่อ โครงการ “100 ล้านซีซี โลหิตชาวอมตะเพื่อสภากาชาดไทย” ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ภาคบริการโลหิตแห่งที่ 3 จังหวัดชลบุรี เหล่ากาชาดจังหวัดระยอง และผู้ประกอบการภายในนิคมอุตสาหกรรมอมตะทั้งสองแห่ง โดยมีเป้าหมายร่วมกันคือการเพิ่มปริมาณโลหิตสำรองให้แก่สภากาชาดไทยเพื่อให้พร้อมใช้งานในการนำไปช่วยเหลือรักษาชีวิตผู้ป่วยตามความเร่งด่วนและเพียงพอต่อความต้องการ

    ในปี 2566 โครงการนี้สามารถจัดหาโลหิตสำรองให้แก่สภากาชาดไทยได้จำนวน 4.22 ล้านซีซี แบ่งเป็นจากนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี รวม 3,819,600 ซีซี นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง 397,300 ซีซี โดยมีปริมาณโลหิตสะสมที่ได้รับบริจาครวมตลอดระยะเวลา 12 ปี จำนวน 25.36 ล้านซีซี แบ่งเป็น อมตะซิตี้ ชลบุรี 23.09 ล้านซีซี อมตะซิตี้ ระยอง  2.27 ล้านซีซี (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566) สามารถนำไปช่วยเหลือผู้ป่วยได้รวมกว่า 169,000 คน (ที่มา: สมาคมโลหิตวิทยาแห่งประเทศไทย การบริจาคโลหิต 1 คน  จำนวน 450 ซีซี สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้ 3 คน)

    การป้องกันและลดการเกิดไข้เลือดออกในชุมชน

    เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2566 บริษัทฯ ตระหนักถึงอันตรายจากการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกในชุมชน จึงให้การสนับสนุนบริษัท คาโอ อินดัสเตรียล (ประเทศไทย) จำกัด สร้างความตระหนักรู้เรื่องภัยร้ายที่เกิดจากโรคไข้เลือดออกสู่สาธารณะ และนำนวัตกรรมในการป้องกันโรคไข้เลือดออกผ่านแอปพลิเคชันรู้ทัน ซึ่งเป็นช่องทางการสื่อสารข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสิ่งที่มีผลกระทบต่อสุขภาพในพื้นที่ เช่น การแพร่ระบาดของไข้เลือดออก และสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 เป็นต้น จากความร่วมมือระหว่างบริษัท คาโอ อินดัสเตรียล (ประเทศไทย) จำกัด และหน่วยงานภาครัฐ มาดำเนินกิจกรรมในพื้นที่ชุมชนใกล้เคียงนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี เพื่อให้ชุมชนสามารถเตรียมรับมือกับความเสี่ยงด้านสุขภาพ เป็นระยะเวลากว่า 2 ปี และได้นำเสนอผลสำเร็จของโครงการในวันไข้เลือดออกอาเซียน ภายใต้แนวคิด "ก้าวสู่สังคมไทย ไม่ป่วยตายด้วยไข้เลือดออก" จัดโดยบริษัท คาโอ อินดัสเตรียล (ประเทศไทย) จำกัด กองโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรคกรุงเทพมหานคร และพันธมิตร ทั้งยังเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เพื่อแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ในการป้องกันและลดการเกิดโรคไข้เลือดออก

    กีฬาเพื่อมิตรภาพอมตะ AMATA FRIENDSHIP SPORT

    บริษัทฯ มีนโยบายการจัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพที่ดีให้แก่คนในชุมชนและสังคมอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี เพื่อเสริมสร้างความสามัคคี ความมีน้ำใจนักกีฬา มีพลานามัยที่ดี ของคนในชุมชนทั้งในและนอกนิคมอุตสาหกรรม รวมถึงการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ โดยเฉพาะพนักงานที่ทำงานในโรงงานผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ให้ได้มีโอกาสทำกิจกรรมแสดงความสามารถและสานสัมพันธ์กับเพื่อนต่างโรงงานโดยใช้กีฬาเป็นสื่อกลาง

    บริษัทฯ จึงได้จัดให้มีการแข่งขัน "กีฬาเพื่อมิตรภาพ อมตะ" ขึ้นภายในนิคมอุตสาหกรรมอมตะทั้ง 2 แห่ง อย่างต่อเนื่องรวมระยะเวลากว่า 20 ปี ซึ่งในการจัดการแข่งขันของแต่ละปีมีทีมนักกีฬาจากสถานประกอบการภายในนิคมฯ เข้าร่วมแข่งขันรวมกว่า 400 ทีม นับได้ว่าเป็นการจัดการแข่งขันกีฬาที่มีผู้เข้าร่วมมากที่สุดในกลุ่มผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรม

    โดยในปี 2566 นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี ได้จัดการแข่งขันขึ้นในวันที่ 23 เมษายน – 27 สิงหาคม 2566 มีการแข่งขัน 9 ประเภทกีฬา ได้แก่ ฟุตบอลชาย 11 คน, ฟุตบอลชายอาวุโส, ฟุตบอลหญิง, วอลเลย์บอลชาย – หญิง, บาสเกตบอลชาย, เซปัคตระกร้อชาย, แบดมินตัน ชายคู่ หญิงคู่ และคู่ผสม, เทเบิลเทนนิส ชายเดี่ยว หญิงเดี่ยว และคู่ผสม, และเปตอง ชายคู่ มีผู้สมัครเข้าร่วมการแข่งขันทั้งสิ้นจำนวน 287 ทีมจาก 77 สถานประกอบการ รวมมีนักกีฬาเข้าร่วมมากกว่า 5,000 คน

    นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง ได้จัดการแข่งขันขึ้นในวันที่ 1 ตุลาคม – 19 พฤศจิกายน 2566 มีการจัดการแข่งขัน 7 ประเภทกีฬา ได้แก่ ฟุตบอล 7 คน ชาย-หญิง, วอลเล่ย์บอล ชาย-หญิง, เปตองคู่ ชาย-หญิง และตะกร้อชาย มีผู้สมัครเข้าร่วมการแข่งขันทั้งสิ้นจำนวน 124 ทีมจาก 54 สถานประกอบการ รวมมีนักกีฬาเข้าร่วมมากกว่า 1,500 คน

    กีฬาเยาวชน เพื่อมิตรภาพ “อมตะ จูเนียร์ลีค” 

    การจัด “การแข่งขันกีฬาอมตะจูเนียร์ลีค” เป็นอีกหนึ่งโครงการที่บริษัทฯ ได้จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องรวมระยะเวลากว่า 10 ปี ให้แก่เยาวชนที่อยู่โดยรอบนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี และ อมตะซิตี้ ระยอง โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมทักษะความสามารถทางกีฬาให้แก่กลุ่มเยาวชน รวมถึงช่วยส่งเสริมการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ รู้จักใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ มีน้ำใจนักกีฬา รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย ไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด และมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ ถือเป็นกิจกรรมการสนับสนุนศักยภาพเยาวชนด้านกีฬาที่ใหญ่สุดในภาคธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม

    โดยในปี 2566 นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี ได้จัดการแข่งขันกีฬา “อมตะ จูเนียร์ลีค” ขึ้นเป็นครั้งที่ 11 มีการแข่งขันกีฬา 4 ประเภท ได้แก่ ฟุตบอลชาย 7 คน วอลเลย์บอลหญิง เซปักตระกร้อชาย และเปตองทีมชาย-หญิง แบ่งการแข่งขันออก 2 ระดับ ได้แก่ ระดับประถมศึกษาตอนปลาย ป.4 ถึง ป.6 และระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ม.1 ถึง ม.3 มีทีมนักกีฬาและโรงเรียนรอบนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี สนใจเข้าร่วมการแข่งขัน รวม 149 ทีม จาก 41 โรงเรียน รวมมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 1,000 คน

    นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง ได้จัดการแข่งขันกีฬา “อมตะ จูเนียร์ลีค” ขึ้นเป็นครั้งที่ 12 มีการแข่งขันกีฬา 4 ประเภทเช่นเดียวกับอมตะซิตี้ ชลบุรี  และแบ่งการแข่งขันออก 2 ระดับ ได้แก่ ระดับประถมศึกษาตอนปลาย ป.4 ถึง ป.6 และระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ม.1 ถึง ม.3 ซึ่งมีทีมนักกีฬาและโรงเรียนรอบนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง สนใจเข้าร่วมการแข่งขัน รวม 147 ทีม จาก 31 โรงเรียน รวมมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 1,100 คน

    บริษัทฯ ได้ให้การสนับสนุนแก่โรงเรียนและเยาวชนที่มาร่วมกิจกรรมเพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่โรงเรียนและผู้ปกครอง อาทิ เสื้อกีฬา อาหารกลางวัน ค่าเดินทาง และอื่นๆ ทีมที่ชนะการแข่งขันในประเภทกีฬาต่าง ๆ จะได้รับ ทุนการศึกษา ถ้วยรางวัล และเหรียญรางวัลเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจอีกด้วย

     

     

  • ส่งเสริมการเรียนรู้

    บริษัทฯ และผู้มีส่วนได้เสียให้ความสำคัญในเรื่องการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เป็นอย่างมาก เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมมีความต้องการบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ และแรงงานที่มีทักษะเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน ตามการพัฒนาของเทคโนโลยีในกระบวนการผลิต และตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรมที่จะเข้ามาลงทุนในโครงการ EEC ในอนาคต บริษัทฯ จึงได้พัฒนา และดำเนินโครงการด้านการศึกษาต่าง ๆ เพื่อช่วยยกระดับขีดความสามารถของบุคลากรในโรงงานและแรงงานท้องถิ่น โดยเปิดโอกาสให้ทุกคนได้เข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึงและส่งเสริมการเรียนรู้อย่างไม่หยุดนิ่ง

    โครงการตามรอยพ่อเพื่อโรงเรียนพอเพียง

    บริษัทฯ ดำเนินโครงการ “ตามรอยพ่อเพื่อโรงเรียนพอเพียง” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนวัตถุดิบในการประกอบอาหารกลางวันของโรงเรียนและลดค่าใช้จ่ายของโรงเรียน ทั้งยังสามารถขายเป็นรายได้เสริมให้แก่โรงเรียนได้ นอกจากนี้ยังเป็นการเรียนรู้แนวทางเศรษฐกิจพอเพียงตามรอยในหลวงรัชกาลที่ 9 บริษัทฯ ได้จัดกิจกรรม เรียนรู้การเพาะเห็ดนางฟ้า ณ โรงเรียนบ้านภูไทร ตำบลเขาไม้แก้ว อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนได้เรียนรู้ทักษะต่างๆ ของการเพาะเห็ดโดยการฝึกปฏิบัติจริง ตั้งแต่กระบวนการบรรจุก้อน หยอดเชื้อเห็ด และการดูแลโรงเรือนเพาะ และได้จัดกิจกรรมปลูกผักสวนครัวเพื่อครัวโรงเรียน ณ โรงเรียนบ้านห้วยไข่เน่า ตำบลเขาไม้แก้ว อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ประกอบด้วย การทำแปลงปลูกผัก การปลูกผักต่างๆ การเพาะเห็ดนางฟ้า และการทดลองปลูกถั่วงอกในกล่องพลาสติก เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนได้เรียนรู้และทดลองการปลูกผักจริง เช่น ผักบุ้งจีน มะเขือ พริก เป็นต้น

    บริษัทฯ ได้รับความร่วมมือจากโรงงานผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง ได้แก่ บริษัท คาร์ดิแนล เฮลท์ 222 (ประเทศไทย) จำกัด  และ บริษัท บีเอสที สเปเชียลตี้ จำกัด มาร่วมทำกิจกรรมในครั้งนี้

    โครงการพัฒนาโรงเรียนโดยรอบนิคมฯ

    บริษัทฯ และชมรมอมตะจิตอาสา ระยอง ได้ร่วมกันดำเนิน “โครงการพัฒนาโรงเรียนบ้านภูไทร” ต.เขาไม้แก้ว อ.บางละมุง จ.ชลบุรี มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยพัฒนาโรงเรียนและส่งเสริมการเรียนรู้นอกห้องเรียนให้แก่นักเรียนโรงเรียนบ้านภูไทร ต.เขาไม้แก้ว อ.บางละมุง จ.ชลบุรี กว่า 170 คน โดยจัดกิจกรรมฐานให้ความรู้ด้านความปลอดภัย และสุขอนามัยแก่นักเรียน ร่วมกันสร้างพื้นที่เรียนรู้นอกห้องเรียน หรือการวาดภาพ Brain-based learning (BBL) ปรับปรุงห้องพยาบาลโดยมอบเตียงนอนทดแทนเตียงเก่าที่ชำรุดและชุดยาปฐมพยาบาลเบื้องต้น พัฒนาห้องสมุด โดยมอบคอมพิวเตอร์มือสอง จำนวน 5 เครื่อง รวมไปถึงการมอบอุปกรณ์การเรียนการสอน อุปกรณ์กีฬา และอื่นๆ โครงการนี้ช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างบริษัทฯ และโรงงานผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง ในการทำกิจกรรมพัฒนาชุมชนท้องถิ่นร่วมกันเพื่อประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม ซึ่งในปี 2566 มีพนักงานจากสถานประกอบการในนิคมฯ กว่า 80 คน จาก 10 บริษัท ร่วมกิจกรรม

    โครงการพัฒนาโรงเรียนห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์

    บริษัทฯ ร่วมกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และชมรม CSR อมตะซิตี้ ชลบุรี จัดโครงการพัฒนาโรงเรียนและห้องสมุดอิเล็คทรอนิคส์ จำนวน 3 ครั้ง ได้แก่

    1.โรงเรียนชุมชนวัดหนองตำลึง ต.หนองตำลึง อ.พานทอง จ.ชลบุรี

    2.โรงเรียนวัดบางนาง ต.บางนาง อ.พานทอง จ.ชลบุรี และ

    3.โรงเรียนวัดบางผึ้ง ต.บางผึ้ง อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา 

    โครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยพัฒนาโรงเรียนและส่งเสริมเยาวชนให้การเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ สนับสนุนช่องทางการเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์ โดยมอบคอมพิวเตอร์ใหม่และคอมพิวเตอร์มือสอง โต๊ะเรียน เก้าอี้ รวมถึงมอบทุนการศึกษา อุปกรณ์การเรียนอื่นๆ ซ่อมแซมห้องน้ำ ห้องพยาบาล สนามเด็กเล่น รวมมูลค่าที่ส่งมอบให้โรงเรียนในปี 2566 รวมกว่า 550,000 บาท นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมเกมสันทนาการแจกของรางวัลแก่นักเรียนอีกด้วย

    โครงการครูอาสาอมตะ

    บริษัทฯ ร่วมกับผู้ประกอบภายในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี และอมตะซิตี้ ระยอง จัดกิจกรรม “ครูอาสาอมตะ” เพื่อสร้างความสัมพันธ์กับชุมชนและกลุ่มโรงเรียนรอบนิคมฯ สนับสนุนการเสริมสร้างทักษะความรู้รอบตัวให้กับเยาวชนด้วยหลักสูตร การลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้โดยในปี 2566 ได้จัดกิจกรรมในพื้นที่ 4 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนบ้านย่านซื่อ จ.ชลบุรี โรงเรียนวัดพานทอง จ.ชลบุรี โรงเรียนบ้านมาบยางพร จ.ระยอง และ โรงเรียนนิคมสร้างตนเองจังหวัดระยอง 9 จ.ระยอง

    กลุ่มเป้าหมายได้แก่เด็กนักเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ระยะเวลาการดำเนินกิจกรรมระหว่างเดือน มิถุนายน – ธันวาคม 2566 โดยทำการเรียนการสอนโรงเรียนละ 8 ชั่วโมงเรียน (สัปดาห์ละ 1 ชั่วโมงเรียน) มีนักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมรวมจำนวน 220 คน

    โครงการ “นักประดิษฐ์น้อยอมตะ” ชิงทุนการศึกษา

    ในปี 2566 บริษัทฯ จัดโครงการ “นักประดิษฐ์น้อยอมตะ” ประกวดสิ่งประดิษฐ์จากวัสดุเหลือใช้ ชิงทุนการศึกษารวมกว่า 100,000 บาท เพื่อเสริมสร้างศักยภาพทางด้านความคิดสร้างสรรค์ ความกล้าแสดงออก ให้แก่เยาวชนโดยรอบนิคมอุตสาหกรรมอมตะ ซึ่งเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีค่าที่จะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมและพัฒนาประเทศในอนาคต โครงการนี้มุ่งหวังให้เยาวชนได้รู้จักการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ช่วยลดปริมาณขยะให้กับสิ่งแวดล้อม พร้อมกับฝึกทักษะกระบวนการเรียนรู้ คิดค้น ทดลองลงมือปฏิบัติ สร้างสรรค์ผลงานสิ่งประดิษฐ์จากวัสดุเหลือใช้ ให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยแบ่งการประกวดออกเป็น 2 ระดับ ได้แก่ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และ ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยมีเยาวชนร่วมส่งผลงานเข้าร่วมการประกวดรวมกว่า 60 ผลงาน 

    กิจกรรมงานวันเด็กแห่งอมตะซิตี้

    บริษัทฯ  จัดกิจกรรม “วันเด็กแห่งอมตะซิตี้” มาอย่างต่อเนื่อง เป็นประจำทุกปี เพื่อมอบความสุข และความสนุกสนานให้กับเด็กๆ ที่อยู่ในพื้นที่โดยรอบนิคมอุตสาหกรรม อมตะซิตี้ ชลบุรี และ อมตะซิตี้ ระยอง ได้มาร่วมสนุกกับกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ พร้อมกับสอดแทรกความรู้ไว้ในกิจกรรม อาทิ การแข่งขันการแสดงบนเวที การประกวดวาดภาพ การมอบทุนการศึกษา การจับสลากลุ้นของรางวัลบนเวที รวมถึงมีซุ้มกิจกรรมให้ความรู้ ซุ้มเกมแจกของรางวัล และอาหาร เครื่องดื่มฟรี อีกมากมาย ในแต่ละปีมีเด็ก ๆ มาเข้าร่วมกิจกรรมรวมกว่า 2,500 คน รวมมูลค่าการจัดงานของขวัญของรางวัลและทุนการศึกษาที่มอบให้แก่เด็กๆ รวมกว่า 700,000 – 800,000 บาทต่อปี

    ในปี 2566 บริษัทฯ ได้จัดงานวันเด็กที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2566 โดยได้รับความร่วมมือจากสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี ผู้ประกอบการภายในนิคมอุตสาหกรรมรวม 55 บริษัท นำทุนการศึกษา ของรางวัลจับสลากบนเวที ซุ้มกิจกรรมเกม ซุ้มอาหาร มามอบความสุขให้แก่เด็ก ๆ ที่มาร่วมกิจกรรมรวมกว่า 1,200 คน

    บริษัทฯ ได้จัดงานวันเด็กที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2566 โดยได้รับความร่วมมือจากสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง ผู้ประกอบการภายในนิคมอุตสาหกรรมรวม 36 บริษัท นำทุนการศึกษา ของรางวัลจับสลากบนเวที ซุ้มกิจกรรมเกม ซุ้มอาหาร มามอบความสุขให้แก่เด็ก ๆ ที่มาร่วมกิจกรรมรวมกว่า 800 คน

    นอกจากนี้ยังได้มีการจัดนิทรรศการภาพวาดระบายสีของเด็กๆ และมอบรางวัลให้แก่นักเรียนที่ชนะการประกวดวาดภาพจากโครงการประกวดวาดภาพชิงทุนการศึกษาของอมตะ ในหัวข้อ "สิ่งดี ๆที่อมตะ" ซึ่งได้จัดขึ้นเมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายน ของปี 2565 มีผลงานส่งเข้าประกวดรวมกว่า 100 ผลงาน และประกาศผลเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2565

  • ส่งเสริมวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น

    บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับการสนับสนุน และการมีส่วนร่วมกับกิจกรรมทางวัฒนธรรมและประเพณีท้องถิ่นของชุมชน เพื่อสืบสานประเพณีที่ดีงาม และสร้างความสัมพันธ์และทัศนคติที่ดีกับชุมชน โดยบริษัทฯ ร่วมกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย บริษัทผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมอมตะทั้งสองแห่ง และชุมชนโดยรอบนิคมอุตสาหกรรมอมตะทั้งสองแห่ง เข้าร่วมและสนับสนุนกิจกรรมทางวัฒนธรรมและประเพณีท้องถิ่นของชุมชน อย่างต่อเนื่อง

    ในปี 2566 ผู้บริหารและพนักงานของบริษัทฯ ได้ร่วมทำกิจกรรมกับชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่โดยรอบนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 31 ตำบล 5 อำเภอ 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดชลบุรี และจังหวัดฉะเชิงเทรา โดยมีกิจกรรมที่เข้าร่วม อาทิ งานทอดผ้าป่ามหากุศล งานทอกฐินสามัคคี ประเพณีสงกรานต์ งานวันผู้สูงอายุ งานลอยกระทง งานบุญประจำปี และงานทำบุญสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำท้องถิ่น เป็นต้น

    • งานสักการะศาลแม่งอบ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำบ้านนาเกลือ ต.คลองตำหรุ จ.ชลบุรี
    • งานสืบสานประเพณีดั้งเดิม (แม่นางด้ง) ประจำปี 2566 ต.หน้าพระธาตุ จ.ชลบุรี
    • งานบุญประจำปี วัดพานทอง จ.ชลบุรี
    • งานประเพณีสงกรานต์และวันผู้สูงอายุ
    • งานทอดกฐินมหากุศลและงานทอดผ้าป่าสามัคคี

    ในพื้นที่ของนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง ได้ร่วมกิจกรรมประเพณีสงกรานต์และวันผู้สูงอายุของ อบต. โดยมอบของที่ระลึกและของอุปโภคบริโภคให้แก่ผู้สูงอายุในตำบลเขาไม้แก้ว อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี  อบต.บ่อวิน อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี อบต.ปลวกแดง อบต.มาบยางพร อำเภอปลวกแดง  และ อบต.พนานิคม อำเภอนิคมพัฒนา จังหวัดระยอง

    • ประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษา
    • พิธีทำบุญและร่วมพิธีถวายผ้ากฐิน ณ วัดมาบบอน ตำบลบ่อวิน อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี และวัดเขามะพูด ตำบลพนานิคม อำเภอนิคมพัฒนา จังหวัดระยอง
    • กิจกรรมสืบสานประเพณีวันลอยกระทง พร้อมทั้งสนับสนุนงบประมาณและร่วมจัดบูธกิจกรรมให้แก่ชุมชน ได้มาร่วมสนุกภายในงานลอยกระทง ทั้งสิ้น 2 แห่ง ได้แก่ วัดราษฏร์อัสดาราม (สะพานสี่) และบ้านวังตาลหม่อน ตำบลมาบยางพร อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง

5. การติดตามและประเมินผลอย่างต่อเนื่อง

ฝ่ายงานชุมชนสัมพันธ์และกิจกรรมความรับผิดชอบเพื่อสังคม (CSR) ของอมตะ ได้ทำการจัดทำแบบสำรวจความพึงพอใจของชุมชนโดยรอบนิคมอุตสาหกรรมอมตะทั้งสองแห่ง ได้แก่ อมตะซิตี้ ชลบุรี และอมตะซิตี้ ระยอง เป็นประจำทุกปี ร่วมกับคณะนิเทศศาสตร์  มหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตชลบุรี เพื่อศึกษาข้อมูลความพึงพอใจของชุมชนที่มีต่อการดำเนินกิจกรรมด้าน CSR รวมถึงการดำเนินงานของอมตะ ในเชิงลึกรวมถึงศึกษาความต้องการและความคาดหวังของชุมชนที่มีต่ออมตะให้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยผลการสำรวจในปี 2566 พบว่านิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี ได้รับคะแนนความพึงพอใจเฉลี่ยที่คะแนน 91.5 % และนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง ได้รับคะแนนความพึงพอใจเฉลี่ยที่คะแนน 91.3 %

นอกจากนี้ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)ได้ทำการสำรวจความพึงพอใจของชุมชนประจำปีที่มีต่อนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ จำนวน 46 แห่ง โดยร่วมกับบริษัทฯ ดำเนินการสำรวจความพึงพอใจของชุมชนรอบนิคมอุตสาหกรรมอมตะทั้งสองแห่ง ในปี 2566 นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี ได้รับคะแนนความพึงพอใจเฉลี่ย ที่ 94% และนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง ได้รับคะแนนความพึงพอใจเฉลี่ยที่ 87.4 %

บริษัทฯ ได้นำข้อเสนอแนะจากการประเมินความพึงพอใจของชุมชนโดยรอบนิคมอุตสาหกรรมอมตะทั้งสองแห่ง มาวิเคราะห์ และวางแผนการดำเนินกิจกรรมเพื่อสนับสนุน และพัฒนาชุมชนในปีถัดไป นอกจากนี้ ฝ่ายงานชุมชนสัมพันธ์และความรับผิดชอบเพื่อสังคม ได้ลงพื้นที่เพื่อสัมภาษณ์เชิงลึก ถึงประเด็นปัญหา และความคาดหวังของชุมชนต่อบริษัทฯ เพื่อนำมาเป็นข้อมูลพื้นฐานในการดำเนินกิจกรรมต่อไปในอนาคต

ซึ่งจากผลสำรวจความพึงพอใจของชุมชนในปี 2566 ของชุมชนพื้นที่โดยรอบอมตะซิตี้ ชลบุรี พบว่า ชุมชนมีความต้องการให้อมตะให้ความสำคัญในการดูแลและสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาในพื้นที่นิคมรวมถึงการสร้างโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพเป็นประเด็นหลัก นอกจากนี้ยังต้องการให้อมตะส่งเสริมอาชีพและสินค้าในชุมชนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากของชุมชนอันก่อให้เกิดความยั่งยืนสืบต่อไป และในส่วนของชุมชนพื้นที่โดยรอบอมตะซิตี้ ระยอง พบว่า ชุมชนมีความต้องการให้อมตะส่งเสริมทางด้านเศรษฐกิจเช่นการจ้างงานคนในชุมชนเพิ่มมากขึ้น การส่งเสริมอาชีพและสินค้าในชุมชน การสร้างรายได้และกระจายรายได้ไปสู่ชุมชนโดยรอบนิคมมากขึ้น นอกจากนี้ยังต้องการให้อมตะเพิ่มการมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนรอบนิคมมากขึ้น

บริษัทฯ ได้นำข้อเสนอแนะจากแบบสำรวจมาใช้ในการวางแผนการดำเนินงานโดยให้ความสำคัญกับการดำเนินกิจกรรมเพื่อให้เกิดความสอดคล้องกับแบบสำรวจที่จัดทำขึ้น รวมถึงวางแผนงานในการจัดทำโครงการ ต่าง ๆ อาทิโครงการ Farm to Factory นำสินค้าชุมชนเข้าสู่ครัวโรงงาน ประสานขอพื้นที่ภายในสถานประกอบการเปิดเป็นตลาดนัดขนาดเล็กให้ชุมชนได้นำสินค้าเข้าไปจำหน่าย เพื่อส่งเสริมกระตุ้นเศรษฐกิจให้เกิดการกระจายรายได้ในชุมชน ของอมตะซิตี้ ชลบุรีและอมตะซิตี้ ระยอง รวมถึงการเพิ่มช่องทางการประชาสัมพันธ์ทางออนไลน์ให้สินค้าชุมชนเพิ่มขึ้น จากเวปไซด์อมตะชวนช้อป และจัดการไลฟ์สดขายสินค้าชุมชน เป็นต้น

ในส่วนการดำเนินงานด้านการพัฒนาการศึกษาฝ่าย บริษัทฯ ได้จัดให้มีกิจกรรมพัฒนาโรงเรียนห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ กิจกรรมครูอาสาอมตะ ด้วยความร่วมมือกับสถานประกอบการที่อยู่ภายในนิคมอุตสาหกรรม ทั้ง 2 แห่ง และพนักงานในกลุ่มอมตะ เข้าร่วมทำกิจกรรมกับโรงเรียนที่อยู่โดยรอบนิคมฯ นอกจากนี้ยังมีการร่วมมอบทุนการศึกษาให้กับนักเรียนที่ครอบครัวขาดแคลนเพื่อเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้แก่เยาวชน

ด้านการส่งเสริมสุขภาพ บริษัทฯ ได้มีส่วนร่วมสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมด้านต่างๆ อาทิ การจัดประชุมให้ความรู้ชุมชน การเชิญร่วมออกหน่วยให้บริการประชาชนในกิจกรรมคาราวานอมตะสร้างรอยยิ้ม หรือการมอบหน้ากากอนามัยให้ชุมชน เป็นต้น

ร่วมสร้างอนาคตไปกับอมตะ

AMATA

Contact us for more details.

Thailand
+66 38 939 007
Vietnam

+84 251 3991 007 (South)
+84 203 3567 007 (North)

Myanmar
+95 1 230 5627
Laos

+85 620 5758 0007

© AMATA CORPORATION PCL. All rights reserved.  Web by Toneyes  Web by Toneyes