ความเสี่ยง

การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมนั้นเป็นธุรกิจที่ก่อให้เกิดมลภาวะทางสิ่งแวดล้อมที่สามารถส่งผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมในพื้นที่และกระทบต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของผู้มีส่วนได้เสียที่ทำงานในนิคมอุตสาหกรรมและชุมชนที่อยู่อาศัยโดยรอบหากไม่มีการควบคุมดูแลที่ดี นำมาซึ่งการขาดความเชื่อมั่นจากผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม การต่อต้านจากชุมชนท้องถิ่นในการขยายธุรกิจในอนาคต และอาจถูกเพิกถอนใบอนุญาตในการดำเนินธุรกิจได้

โอกาส

การมุ่งเน้นการพัฒนาระบบการบริหารจัดการและควบคุมคุณภาพของสิ่งแวดล้อมภายในนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ทำให้บริษัทฯ มีโอกาสในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ โดยนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพสูงมาใช้เพื่อให้มั่นใจว่าสิ่งแวดล้อมจะได้รับการดูแลตรวจสอบอย่างใกล้ชิด ซึ่งจะทำให้ผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มมีความมั่นใจในการทำงานของบริษัทฯ มากขึ้นและสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้ากลุ่มที่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ได้ดียิ่งขึ้น และบริษัทฯ สามารถส่งมอบองค์ความรู้ในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมเพื่อเป็นประโยชน์ให้กับสังคมและประเทศที่บริษัทฯ ดำเนินโครงการอยู่ได้ต่อไป

บริษัทฯ ได้ประเมินความเสี่ยงและผลกระทบต่าง ๆ ที่เกิดจากการดำเนินธุรกิจตลอดห่วงโซ่อุปทาน รวมไปถึงการกำกับดูแลการทำงานของคู่ค้าและผู้รับเหมา และติดตามสอดส่องดูแลการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรมอมตะทั้งสองแห่ง ที่อาจจะก่อให้เกิดผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อมได้ จากการประเมินผลกระทบพบว่า มลภาวะด้านสิ่งแวดล้อมที่มีผลกระทบสำคัญต่อผู้มีส่วนได้เสีย ได้แก่ มลพิษทางอากาศ ขยะและของเสียจากอุตสาหกรรม มลพิษทางน้ำ เสียงและกลิ่นรบกวนจากโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม ดังนั้น บริษัทฯ จึงมุ่งเน้นการบริหารจัดการเพื่อดูแลและควบคุมผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมให้อยู่ในเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดหรือดีกว่า โดยเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ และยึดมั่นปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการในนิคมอุตสาหกรรม มาตรการที่กำหนดเอาไว้ในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรฐานสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ อย่างเคร่งครัด

บริษัทฯ ได้ร่วมกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ในการกำกับดูแลนิคมอุตสาหกรรมของอมตะทั้งสองแห่งให้ดำเนินการตามกรอบกฎหมายและระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ ตลอดจนนโยบายของทั้งสองหน่วยงานเพื่อลดผลกระทบเชิงลบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม บริษัทฯ ได้ปฏิบัติตามตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมในเขตพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมของนิคมอุตสาหกรรมต่อชุมชนข้างเคียง และส่งเสริมแนวทางการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมของนิคมอุตสาหกรรมด้วยหลักธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม โดยมีผลการดำเนินงาน ดังนี้

การดำเนินงานตามมาตรการในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม

1.ศูนย์เฝ้าระวังและควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (Environmental Monitoring and Control Center: EMCC)

บริษัทฯ ตระหนักถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากโรงงานสถานประกอบการที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซึ่งอยู่นอกเหนือการควบคุมของบริษัทฯ บริษัทฯ จึงได้จัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังและควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อม หรือ EMCC ขึ้นในปี 2556 และดำเนินการต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน เพื่อติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมในเขตพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะทั้งสองแห่ง ให้มีตัวชี้วัดคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานที่กฎหมายกำหนด เช่น มลพิษอากาศ น้ำทิ้ง โดยข้อมูลการตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อมจากทั้งสองพื้นที่จะถูกเชื่อมโยงเข้าสู่ศูนย์ EMCC ด้วยระบบแสดงผลออนไลน์ต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง จำนวน 5 ระบบ  ได้แก่

1) ระบบฐานข้อมูลส่วนกลางของนิคมอุตสาหกรรม

เป็นศูนย์กลางรวบรวมข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมในระดับนิคมอุตสาหกรรม และโรงงานอุตสาหกรรม เช่น ปริมาณการใช้น้ำ ปริมาณน้ำเสีย คุณภาพน้ำเสีย ปริมาณกากของเสีย และคุณภาพอากาศ เป็นต้น

2) ระบบการเฝ้าระวังและควบคุมคุณภาพน้ำทิ้งหลังผ่านการบำบัดจากระบบบำบัดน้ำเสียส่วนกลางของนิคมอุตสาหกรรม

เป็นระบบที่เชื่อมโยงผลการตรวจวัดคุณภาพน้ำทิ้งหลังผ่านการบำบัด ด้วยเครื่อง BOD Online และ COD Online จากระบบบำบัดน้ำเสียส่วนกลางของนิคมอุตสาหกรรมมายังศูนย์ EMCC โดยหากพบว่าคุณภาพน้ำทิ้งเกินมาตรฐานตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดมาตรฐานคุณภาพน้ำทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรม นิคมอุตสาหกรรม และเขตประกอบการอุตสาหกรรม ลงวันที่ 29 มีนาคม 2559 และประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง กำหนดมาตรฐานควบคุมการระบายน้ำทิ้งจากโรงงาน พ.ศ. 2560 ลงวันที่ 30 พฤษภาคม 2560 ทางศูนย์ EMCC จะแจ้งเตือนไปที่ศูนย์ควบคุมน้ำเสียส่วนกลาง เพื่อวิเคราะห์สาเหตุของปัญหาและทำการแก้ไขโดยทันที

3) ระบบการเฝ้าระวังและควบคุมคุณภาพอากาศในบรรยากาศทั่วไป

เป็นระบบเฝ้าระวังคุณภาพอากาศในบรรยากาศผ่านสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศแบบต่อเนื่อง (Air Quality Monitoring Station : AQMS) ของพื้นที่ชุมชนโดยรอบนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี จำนวน 4 สถานี คือ วัดอู่ตะเภา วัดมาบสามเกลียว โรงเรียนพานทองสภาชนูปถัมภ์ และวัดอ้อมแก้ว และพื้นที่โดยรอบนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง จำนวน 2 สถานี คือ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลมาบยางพร และวัดพนานิคม ชนิดของมลพิษทางอากาศที่จะทำการตรวจวัดและนำมาวิเคราะห์คุณภาพอากาศ ได้แก่ ฝุ่นละอองรวม (TSP) ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) รวมถึงการวัดความเร็วและทิศทางลม เพื่อวิเคราะห์แนวโน้มการแพร่กระจายของมลพิษและแหล่งกำเนิดของมลพิษอากาศ รวมทั้งสามารถตรวจวัดปริมาณน้ำฝนและอุณหภูมิจากสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศแบบต่อเนื่องได้ด้วย เพื่อใช้ข้อมูลปริมาณน้ำฝนในการคาดการณ์สถานการณ์ฝนตกในพื้นที่ได้อย่างแม่นยำ และอุณหภูมิสูงสุด-ต่ำสุด เพื่อประเมินสภาพภูมิอากาศในพื้นที่เพื่อใช้ในการวางแผนการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม

4) ระบบการเฝ้าระวังและควบคุมคุณภาพอากาศจากปล่องระบายของโรงงานอุตสาหกรรม

แม้ว่าบริษัทฯ จะไม่มีกิจกรรมที่ปล่อยมลพิษอากาศจากธุรกิจโดยตรงและไม่มีอำนาจหน้าที่ในการควบคุมการปล่อยมลพิษของโรงงานได้ แต่บริษัทฯ ยังคงให้ความสำคัญกับระบบติดตามและควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อมโดยการเชื่อมโยงข้อมูลการตรวจวัดคุณภาพอากาศจากปล่องของโรงงานอุตสาหกรรม และระบบตรวจสอบคุณภาพอากาศจากปล่องอัตโนมัติ (Continuous Emission Monitoring System: CEMS) กับฐานข้อมูลการตรวจวัดคุณภาพอากาศของนิคมอุตสาหกรรมในภาพรวม (Emission Inventory) เพื่อการบริหารจัดการคุณภาพอากาศในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม (Emission Loading) หากพบว่าโรงงานมีการปล่อยค่ามลพิษทางอากาศเกินมาตรฐาน ศูนย์ EMCC จะมีการแจ้งเตือนไปยังโรงงานที่มีการปล่อยมลพิษเกิน ให้ทำการตรวจสอบและรายงานสาเหตุ เพื่อแก้ไขปรับปรุงทันที

5) ระบบการเฝ้าระวังด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่จากกล้องวงจรปิด (CCTV)

เพื่อประมวลผลและใช้วางแผนงานด้านความปลอดภัยและจราจร รวมถึงการเฝ้าระวังด้านสิ่งแวดล้อมของโรงงานอุตสาหกรรมภายในนิคมอุตสาหกรรมอมตะ

การติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องของศูนย์ EMCC เป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียได้ว่า บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับการจัดการผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอย่างมากและติดตามคุณภาพของสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง ทำให้สามารถตอบสนองและแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะได้อย่างทันท่วงที โดยมีการเชื่อมโยงข้อมูลคุณภาพสิ่งแวดล้อมของนิคมอุตสาหกรรมอมตะไปยังศูนย์เฝ้าระวังและควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย (ศสป. กนอ.) ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยด้วย

ในปี 2566 บริษัทฯ และโรงงานอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรมอมตะทั้งสองแห่งไม่มีเหตุการณ์ที่ละเมิดกฎหมายและระเบียบข้อบังคับด้านสิ่งแวดล้อมแต่อย่างใด และค่าตัวชี้วัดคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ตรวจวัด ได้แก่ คุณภาพอากาศ และคุณภาพน้ำทิ้งหลังผ่านการบำบัดจากระบบบำบัดน้ำเสียส่วนกลาง อยู่ในเกณฑ์ค่ามาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนดทุกรายการ

2. การเปิดเผยผลการปฏิบัติตามมาตรการป้องกัน และแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA Monitoring Report)

บริษัทฯ จัดทำรายงานการปฏิบัติตามมาตรการป้องกัน และแก้ไขผลกระทบ และติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม (EIA Monitoring Report) เป็นประจำทุก 6 เดือน โดยจัดส่งให้กับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)  การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 13 (ชลบุรี) และสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด (ทสจ.) เพื่อเปิดเผยผลการปฏิบัติตามมาตรการป้องกัน และแก้ไขผลกระทบ และติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม ในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment : EIA) ของทั้งนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี และนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง และนำเสนอให้คณะกรรมการตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมของนิคมอุตสาหกรรมทั้งสองนิคมฯ ซึ่งประกอบด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เจ้าหน้าที่สิ่งแวดล้อมของบริษัทฯ ผู้แทนองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทนชุมชน และผู้แทนโรงงานภายในนิคมอุตสาหกรรมอมตะ รับทราบเป็นประจำทุก 6 เดือนด้วย

ในปี 2566 บริษัทฯ ได้นำเสนอผลในรายงาน EIA Monitoring ต่อคณะกรรมการตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมของทั้งสองนิคมอุตสาหกรรม จำนวน 4 ครั้ง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้คณะกรรมการ

1) ให้ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะในการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมของนิคมอุตสาหกรรม ผลกระทบจากนิคมอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม ตลอดจนปัญหาข้อร้องเรียนที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม

2) รับทราบผลการตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมภายในและภายนอกนิคมอุตสาหกรรม

3) ช่วยเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่ถูกต้อง และสร้างความเชื่อมั่นในการบริหารจัดการนิคมอุตสาหกรรมให้แก่ชุมชนโดยรอบนิคมอุตสาหกรรม

คณะกรรมการตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมของทั้งสองนิคมอุตสาหกรรมไม่มีข้อเสนอแนะที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบของสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากกระบวนการทำงานของบริษัทฯ โดยตรง แต่มีข้อเสนอแนะที่เสนอให้บริษัทฯ นำไปพัฒนาโครงการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมทั้งสองแห่งในปีต่อไป ดังนี้

ข้อเสนอแนะจากคณะกรรมการตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม

อมตะซิตี้ ชลบุรี

  • ให้ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเรื่องการจัดการน้ำเสียและขยะในชุมชน เพื่อที่จะช่วยกันบรรเทาปัญหาน้ำเสียและขยะที่เกิดจากชุมชนที่อาจจะส่งผลกับคุณภาพของน้ำผิวดินและการจัดการขยะของชุมชน เช่น โครงการชุมชนต้นแบบหนองไม้แดงในการจัดการน้ำเสียและขยะชุมชนอย่างยั่งยืน ควรมีการขยายผลไปยังชุมชนอื่น ๆ ที่อยู่โดยรอบนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี เช่น ชุมชนคลองตำหรุ ชุมชนดอนหัวฬ่อ  และชุมชนอื่น ๆ เพิ่มเติมต่อไปในอนาคต
  • ให้ช่วยแก้ไขปัญหาจราจรบางจุดที่เป็นพื้นที่ต่อเชื่อมระหว่างนิคมอุตสาหกรรมกับพื้นที่ชุมชนเพื่อการระบายการจราจรที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยในการอำนวยความสะดวกในช่วงเวลาเร่งด่วน และเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยเฉพาะจุดต่อเชื่อมพื้นที่ของนิคมอุตสาหกรรมกับชุมชน โรงเรียน ฯลฯ และเสนอให้มีการใช้ Applicationในการ Monitor เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นภายในนิคมอุตสาหกรรม ร่วมกับการใช้ CCTV โดยเฉพาะการจราจร และอุบัติเหตุต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมความเป็นเมืองอุตสาหกรรมในด้าน Smart Safety รวมถึงการขยายผลของโครงการ Safety Road ของนิคมอุตสาหกรรมอมตะไปยังนิคมอุตสาหกรรมอื่นๆ ต่อไป
  • ให้ช่วยขยายโครงการ Farm to Factory ไปยังชุมชนอื่น ๆ โดยรอบให้มากขึ้น เพื่อช่วยให้สินค้าและผลิตภัณฑ์ชุมชนสามารถเข้าถึงผู้บริโภคในโรงงานได้ และช่วยสนับสนุนและประชาสัมพันธ์โครงการแก่โรงงานในนิคมอุตสาหกรรมให้มากขึ้นเพื่อช่วยขยายตลาดผู้บริโภคในกลุ่มโรงงาน เพิ่มช่องทางการตลาดให้โรงงานได้เข้าถึงผลิตภัณฑ์ชุมชนผ่านทางโครงการ Farm to Factory ไม่ว่าจะเป็นครัวโรงงานหรือตลาดนัดโรงงาน โดยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนร่วมกับโรงงานอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรม ชมรม CSR ในนิคมอุตสาหกรรมผ่านโครงการ อมตะ ชวนช็อป ร่วมด้วย
  • ให้อมตะช่วยส่งเสริมและขยายโครงการ Eco School ไปยังโรงเรียนอื่น ๆ โดยรอบนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี เพื่อให้เยาวชนและคนในชุมชนมีความรู้ความเข้าใจด้านการรักษาสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยมากขึ้น ตลอดจนช่วยส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมร่วมกับโรงงานอีกทางหนึ่ง ผ่านทางโครงการ Eco Community ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)  เพื่อให้ชุมชนมีส่วนร่วมด้วย
  • พื้นที่สีเขียวที่เป็นแนว Buffer Zone ของโครงการฝั่งที่ติดกับชุมชนต่าง ๆ ขอให้อมตะมีการวัดระยะ นับจำนวน และเพิ่มจำนวนต้นไม้ให้มากยิ่งขึ้น เพื่อลดปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่อาจจะเกิดขึ้นกับชุมชน เช่น ปัญหาด้านกลิ่นเหม็นรบกวน ฝุ่นละออง และเสียงดัง เป็นต้น
  • อยากให้นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี มีการนำพลังงานสะอาดจากระบบไฟฟ้าพลังงานงานแสงอาทิตย์ (Solar Cell) มาใช้ในกิจกรรมต่าง ๆ ของนิคมฯ เพิ่มมากขึ้น โดยเริ่มจากระบบสาธารณูปโภคส่วนกลางต่าง ๆ ของนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี เช่น สัญญาณไฟจราจร ไฟถนนต่าง ๆ เป็นต้น ในพื้นที่ส่วนขยายของนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี รวมทั้งการให้ความรู้ การสนับสนุนการใช้ Solar Cell ของชุมชน

อมตะซิตี้ ระยอง

  • ให้จัดกิจกรรมฝึกอบรม ส่งเสริมความรู้เกี่ยวกับกฎหมายสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยสำหรับการประกอบกิจการในนิคมอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง ให้กับผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม โดยเฉพาะผู้ประกอบการต่างชาติ เพื่อลดโอกาสที่จะก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมจากโรงงานอุตสาหกรรม เช่น มลพิษทางอากาศ น้ำ กลิ่น เสียง เป็นต้น ที่อาจส่งผลกระทบกับชุมชนได้
  • ให้ช่วยแก้ไขปัญหาจราจรในช่วงเวลาเร่งด่วน การระบายการจราจรที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และการอำนวยความสะดวกในด้านการจราจรในช่วงเวลาเร่งด่วนให้กับชุมชน รวมทั้ง การควบคุมความเร็วรถ ให้มีการประสานงานกับตำรวจสร้างกลุ่มเครือข่ายร่วมกัน เพื่อกำหนดให้มีวินัยจราจรที่เข้มงวดมากขึ้น
  • ให้นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง เพิ่มการสนับสนุนกิจกรรมเกี่ยวกับการศึกษา การมอบทุนการศึกษาให้กับเด็กด้อยโอกาส โดยเฉพาะพื้นที่ชุมชนโดยรอบนิคมฯ

การดำเนินงานตามนโยบายของรัฐ 

1.การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco-Industrial Estate)

บริษัทฯ ได้ดำเนินการร่วมกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยในการพัฒนาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะทั้งสองแห่งสู่การเป็นนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศตามนโยบายของรัฐบาล

บริษัทฯ ได้นำกรอบการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศมาประยุกต์ในการดำเนินกิจการ โดยกรอบการพัฒนาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประกอบด้วย 5 มิติ 22 ด้าน ได้แก่ มิติกายภาพ มิติเศรษฐกิจ มิติสิ่งแวดล้อม มิติสังคม และมิติการบริหารจัดการ ซึ่งเกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนได้เสียหลักของบริษัทฯ ได้แก่ ชุมชน ผู้ประกอบการ พนักงานในบริษัท พนักงานในโรงงาน และหน่วยงานราชการท้องถิ่น ระดับในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศแบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ ระดับ Eco-Champion ระดับ Eco-Excellence และระดับ Eco-World Class บริษัทฯ มีเป้าหมายที่จะพัฒนานิคมอุตสาหกรรมทั้งสองแห่งของบริษัทฯ ไปสู่ระดับ Eco-World Class ให้สำเร็จในปี 2568

บริษัทฯ ได้ดำเนินกิจกรรมและโครงการต่าง ๆ เพื่อการพัฒนาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี และพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง ไปสู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ เช่น การจัดตั้งคณะกรรมการการจัดการระบบจราจร และคณะกรรมการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม การสร้างงานสร้างอาชีพให้กับชุมชน การจัดการระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างครบวงจร การพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนและโรงงาน เป็นต้น รวมไปถึงการพัฒนาระบบการใช้งานภายในองค์กรที่สามารถใช้ระบบการบริหารจัดการข้อมูลที่ทันสมัยต่าง ๆ

2. การตรวจสอบธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม

การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้จัดทำโครงการธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม ธงขาวดาวเขียว (Green Star Award) โดยดำเนินการผ่าน “คณะกรรมการกำกับการตรวจประเมินโรงงาน” ซึ่งประกอบไปด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หน่วยงานราชการท้องถิ่น ชุมชนในรัศมี 5 กิโลเมตรรอบนิคมอุตสาหกรรม และบริษัทฯ ในฐานะผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรม เพื่อตรวจสอบ กำกับดูแลโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมอมตะทั้งสองแห่ง ตามหลักธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม ซึ่งกำหนดให้มีการเปิดเผยข้อมูลด้านการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมของโรงงานที่สมัครเข้าร่วมโครงการ รวมทั้งมีการติดตามประเมินผลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมของโรงงานโดยมีผู้แทนจากการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และผู้เชี่ยวชาญเข้าให้คำปรึกษาในด้านระบบการบริหารจัดการภายในโรงงานโดยไม่มีค่าใช้จ่าย การให้ผู้แทนจากหน่วยงานราชการท้องถิ่น และผู้นำชุมชนเข้าตรวจประเมิน และเยี่ยมชมโรงงาน เพื่อความโปร่งใสในการบริหารจัดการ และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องกับชุมชนท้องถิ่น โดยมีเกณฑ์การประเมินโครงการธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม ธงขาวดาวเขียว มีทั้งสิ้น 5 มิติ 13 หัวข้อ

  • มิติกายภาพ

    1. การจัดการพื้นที่สีเขียว
    2. ระบบการระบายน้ำ

  • มิติเศรษฐกิจ

    3. การส่งเสริมเศรษฐกิจท้องถิ่นและเศรษฐกิจชุมชน

  • มิติสิ่งแวดล้อม

    4. การจัดการน้ำ/ใช้พลังงาน และการใช้พลังงานทางเลือก

    5. การจัดการกากอุตสาหกรรม ปฏิกูล และขยะมูลฝอย

    6. การจัดการคุณภาพอากาศ

    7. การจัดการไอระเหยของสารเคมี/การบริหารจัดการความปลอดภัยกระบวนการผลิต PSM

    8. ความปลอดภัยและสุขภาพของพนักงาน

    9. การจัดการอุบัติเหตุ/อุบัติภัย

    10. ข้อร้องเรียน

  • มิติสังคม

    11. คุณภาพชีวิต และสังคมของพนักงานในโรงงาน

    12. คุณภาพชีวิตและสังคมของชุมชนโดยรอบ

  • มิติการบริหารจัดการ

    13. การบริหารจัดการโรงงาน

ในปี 2566 มีโรงงานผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี เข้าร่วมตรวจประเมินจำนวน 8 โรงงาน และนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง มีโรงงานผู้ประกอบการเข้าร่วมตรวจประเมินจำนวน 5 โรงงาน และบริษัทฯ ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการของโครงการและได้ตรวจประเมินโรงงาน  ผลการตรวจประเมินพบว่าทุกโรงงานที่เข้ารับการตรวจประเมินในโครงการธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม (ธงขาวดาวเขียว) ผ่านเกณฑ์ประเมินมากกว่า 80% ทุกโรงงาน ซึ่งจัดอยู่ในระดับดี-ดีเยี่ยม

การบริหารจัดการข้อร้องเรียนด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม

บริษัทฯ จัดให้มีช่องทางในการรับข้อร้องเรียนที่หลากหลายเพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียที่ได้รับผลกระทบจากมลภาวะทางสิ่งแวดล้อมสามารถเข้าถึงได้ง่ายและสามารถแจ้งข้อมูลได้โดยตรง บริษัทฯ มีการดำเนินการรับข้อร้องเรียนอย่างเป็นระบบตามมาตรฐาน ISO 14001: 2015 เพื่อจำแนกและจัดการข้อร้องเรียนแต่ละประเภทได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม

ช่องทางในการรับข้อร้องเรียน

ช่องทาง Online:

  • Line@: @AMATACityChonburi, @AMATACity Rayong
  • Facebook: AMATACorp
  • โทรศัพท์: 038-213-191,
    038-213-009

ช่องทาง Offline:

  • การประชุมคณะกรรมการชุมชน
  • การประชุมชมรมลูกค้าและผู้ประกอบการในนิคม

การบันทึกรายการ และการประเมิน

  • รายการร้องเรียนจากช่องทางต่าง ๆ ถูกบันทึกในระบบจัดการข้อร้องเรียน

  • ระบบจะส่งข้อร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยอัตนโนมัติ เพื่อเข้าสู่กระบวนการบริหารจัดการและแก้ไข

การบริหารจัดการและการแก้ไข

  • หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าตรวจสอบรายการข้อร้องเรียน และประเมินระยะเวลาการแก้ไข
  • ดำเนินการแก้ไขจนแล้วเสร็จ
  • เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบตามความเหมาะสม
  • กำหนดมาตรการเพื่อลดความเสี่ยงและป้องกันการเกิดซ้ำ และติดตามตรวจสอบเป็นประจำ

การรายงานผล

  • รายงานผลการจัดการข้อร้องเรียนต่อผู้มีส่วนได้เสีย

  • รายงานสรุปกระบวนการแก้ไขข้อร้องเรียนต่อผู้บริหารเป็นประจำ 

  • เปิดเผยข้อมูลการบริหารจัดการข้อร้องเรียนในรายงานความยั่งยืนประจำปี

กำหนดมาตรการเพื่อลดความเสี่ยงและป้องกันการเกิดซ้ำ และติดตามตรวจสอบเป็นประจำ

1). การให้คำปรึกษา:

เมื่อข้อร้องเรียนที่พบเกิดขึ้นจากกระบวนการในโรงงานของลูกค้า หรือในพื้นที่ส่วนกลางของนิคมอุตสาหกรรม บริษัทฯ จะพิจารณาส่งเจ้าหน้าที่สิ่งแวดล้อม หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าสำรวจพื้นที่ เพื่อให้คำแนะนำลูกค้าในการปรับปรุงกระบวนการทำงาน และแนวทางการแก้ไขในเบื้องต้น รวมถึงการขอคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน หรือผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานในภาครัฐในการดำเนินการปรับปรุง

2) การดำเนินการผ่านการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

ในกรณีที่ข้อร้องเรียนไม่ได้รับการแก้ไข และมีการร้องเรียนเกิดขึ้นซ้ำอีก บริษัทฯ จะยื่นเรื่องผ่านการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อเข้าดำเนินการตรวจสอบตามกระบวนการ รวมถึงประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่มีอำนาจในการกำกับดูแลเพื่อวางแนวทางการบริหารจัดการ วิเคราะห์สาเหตุ และวิธีการป้องกันต่อไป

ผลการดำเนินการ

ในปี 2566 บริษัทฯ ได้รับข้อร้องเรียนด้านสิ่งแวดล้อมผ่านช่องทางต่าง ๆ รวม 19 รายการ เป็นข้อร้องเรียนระหว่างโรงงานต่อโรงงานจำนวน 8 รายการ ข้อร้องเรียนระหว่างชุมชนและโรงงานจำนวน 10 รายการ และข้อร้องเรียนด้านสิ่งแวดล้อมและด้านสังคมที่มีนัยสำคัญจากผู้มีส่วนได้เสียต่อการดำเนินงานของบริษัทฯ โดยตรงจำนวน 1 รายการ เกี่ยวกับการพัฒนาโครงการใหม่

ข้อร้องเรียนดังกล่าวบริษัทฯ ได้ดำเนินการตามมาตรฐาน ISO 14001: 2015 โดยได้รับความร่วมมือจากการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เข้าตรวจสอบพื้นที่ร่วมกับเจ้าหน้าที่สิ่งแวดล้อมของบริษัทฯ และผู้แทนชุมชน เพื่อดำเนินการแก้ไข และป้องกันการเกิดซ้ำ โดยข้อร้องเรียนได้รับการแก้ไขแล้วเสร็จจำนวน 19 รายการคิดเป็นร้อยละ 100

ร่วมสร้างอนาคตไปกับอมตะ

AMATA

Contact us for more details.

Thailand
+66 38 939 007
Vietnam

+84 251 3991 007 (South)
+84 203 3567 007 (North)

Myanmar
+95 1 230 5627
Laos

+85 620 5758 0007

© AMATA CORPORATION PCL. All rights reserved.  Web by Toneyes  Web by Toneyes