ความเสี่ยง

จากแนวโน้มของโลกที่ให้ความสนใจในเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมของภาคอุตสาหกรรม เช่น การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคอุตสาหกรรมจากการใช้พลังงานรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งบริษัทฯ มีการใช้พลังงานไฟฟ้าจำนวนมากในการดูแลนิคมอุตสาหกรรมทั้งหมด นอกจากนี้ บริษัทชั้นนำทั้งในประเทศและต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมในปัจจุบันให้ความสนใจและมีความต้องการใช้พลังงานหมุนเวียนที่มาจากแหล่งพลังงานสะอาดมากยิ่งขึ้น หากบริษัทฯ ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าปัจจุบันและลูกค้าในอนาคตได้ อาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันและการสร้างรายได้ของบริษัทฯ ในระยะยาว

โอกาส

บริษัทฯ มองเห็นถึงโอกาสในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าทั้งในปัจจุบันและอนาคตได้ เช่น การผลิตและใช้พลังงานสะอาดในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม การสนับสนุนการใช้ยานพาหนะที่ใช้ไฟฟ้า และการสรรหาเทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน เป็นต้น และมุ่งสู่การเป็นเมืองที่เป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2583 ด้วยโครงการด้านพลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการภายใต้เมืองอัจฉริยะอมตะ  มุ่งเน้นการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับพลังงานหมุนเวียน รวมทั้งโครงการ Smart Grid เพื่อใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ มีเสถียรภาพ และส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดที่ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม ลดผลกระทบต่อผู้คนและสังคมจากมลพิษจากการผลิตไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่น สร้างรายได้และความสามารถในการแข่งขันให้กับบริษัทฯ ต่อไป

แนวทางการบริหารจัดการ

บริษัทฯ มีกิจกรรมหลักในกระบวนการทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการใช้พลังงาน ดังนี้ 

บริษัทฯ มุ่งมั่นดำเนินการพื่อให้มั่นใจว่าการใช้พลังงานโดยรวมของบริษัทฯ ทั้งจากพลังงานไฟฟ้าและพลังงานเชื้อเพลิงเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยการดำเนินงานเพื่อลดการใช้พลังงานดังนี้ 

การประหยัดพลังงานในอาคารสำนักงาน

บริษัทฯ มีการดำเนินโครงการ ALL SAVE ALL WIN พื่อส่งเสริมให้พนักงานของบริษัทฯ ทั้งที่สำนักงานกรุงเทพ สำนักงานชลบุรี และสำนักงานระยอง มีความรู้เรื่องการลดการใช้พลังงานในอาคาร เน้นการปลูกจิตสำนึกของพนักงานทุกคนให้ร่วมมือกันอนุรักษ์พลังงาน ใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างเหมาะสม โดยได้ดำเนินการดังนี้

  • รณรงค์ให้ปิดเครื่องปรับอากาศและปิดไฟที่ไม่จำเป็นในช่วงพักกลางวันเป็นเวลา 1 ชั่วโมง
  • รณรงค์ให้พนักงานใช้บันไดแทนการใช้ลิฟต์
  • ปรับอุณหภูมิของระบบปรับอากาศภายในสำนักงานไม่ให้ต่ำกว่า 24 องศาเซลเซียส
  • ปิดหน้าจอคอมพิวเตอร์ทุกครั้งที่ไม่มีการใช้งาน
  • เปลี่ยนมาใช้หลอดไฟประหยัดพลังงาน โดยเปลี่ยนจาก หลอดฟลูออเรสเซน ขนาด 46 วัตต์ เป็นหลอด LED ขนาด 18 วัตต์
  • วางแผนซ่อมบำรุง และทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง

นอกจากนี้ ที่สำนักงานชลบุรียังมีการเพิ่มการใช้พลังงานแสงอาทิตย์เพื่อทดแทนการใช้พลังงานไฟฟ้า โดยมีการเปลี่ยนมาใช้ solar cell spotlight เพื่อให้แสงสว่างบริเวณพื้นที่จอดรถ

ในปี 2566 อาคารสำนักงานของบริษัทฯ มีปริมาณการใช้ไฟฟ้ารวมทั้งสิ้น 877,150 กิโลวัตต์-ชั่วโมง เพิ่มขึ้นร้อยละ 33.24 เมื่อเทียบกับปี 2565 เนื่องมาจากการกลับเข้ามาทำงานในสำนักงานของพนักงานและมีกิจกรรมในสำนักงานมากขึ้น หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 มีแนวโน้มที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

การประหยัดพลังงานในพื้นที่ส่วนกลาง

บริษัทฯ มีหน้าที่บริหารจัดการพื้นที่ส่วนกลางของนิคมอุตสาหกรรมในส่วนของการดูแลระบบไฟส่องสว่างบนถนนภายในนิคมอุตสาหกรรมทั้งหมด ในปี 2566 บริษัทฯ ใช้พลังงานในพื้นที่ส่วนกลางลดลงร้อยละ 4.67 จากการใช้พลังงานปี 2565  ซึ่งไฟส่องสว่างที่ใช้ในทุกพื้นที่ส่วนกลางของนิคมอุตสาหกรรมทั้งสองแห่งเป็นหลอดไฟฟ้าแบบ LED ทั้งหมด โดยปี 2566 ได้เริ่มติดตั้งไฟทางระบบ solar cell จำนวน 88 จุด และจะเริ่มติดตั้งเพิ่มเติมในปีถัดไปเพื่อลดการใช้พลังงานไฟฟ้า นอกจากนั้นบริษัทฯ ได้ติดตั้งระบบควบคุมและติดตามการเปิด-ปิดที่ตู้ควบคุมไฟฟ้าส่องสว่างแบบอัจฉริยะ และพัฒนา platform เพื่อควบคุมการทำงานของระบบไฟส่องสว่างให้มีประสิทธิภาพสูงสุด และได้ติดตั้งไฟกระพริบแบบใช้พลังงานแสงอาทิตย์ (solar traffic light) ทั้งหมดจำนวน 190 จุด ในพื้นที่ของนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี และนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง เพื่อเป็นการลดการใช้พลังงงานไฟฟ้าอีกด้วย

นอกจากนี้ ในปี 2566 บริษัทฯ ได้ติดตั้งสถานีอุตุนิยมวิทยาแบบออนไลน์ (smart weather station) เพิ่มเติมจากปีที่แล้วโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ทั้งหมดของชุดควบคุมในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี จำนวน 3 จุด และในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง จำนวน 4 จุด ทำให้ปัจจุบันมีการติดตั้งสถานีอุตุนิยมวิทยาแบบออนไลน์ ทั้งหมด 11 จุด

ในปี 2566 บริษัทฯ สามารถลดการใช้พลังงานไฟฟ้าที่ซื้อมาจากแหล่งผลิตที่ไม่หมุนเวียนลงเหลือ 32.71 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง ลดลงร้อยละ 6.4 เมื่อเทียบจากปีฐาน 2562 แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.3 เมื่อเทียบจากปี 2565 เนื่องมาจากการกลับเข้ามาทำงานในสำนักงานของพนักงาน การมีกิจกรรมในสำนักงานมากขึ้น รวมถึงการใช้ไฟฟ้าสำหรับระบบสูบส่งน้ำดิบ ระบบจ่ายน้ำประปา และระบบรวบรวมน้ำเสียเข้าสู่ระบบบำบัดน้ำเสียส่วนกลางที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากการใช้น้ำที่เพิ่มมากขึ้นของผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม

การส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนในระบบสาธารณูโภคของบริษัทฯ

บริษัทฯ ส่งเสริมให้บริษัทย่อยในห่วงโซ่อุปทานเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการพลังงานและลดการใช้พลังงานไฟฟ้า โดยเฉพาะระบบน้ำเพื่อการอุตสาหกรรมซึ่งเป็นกิจกรรมที่ใช้พลังงานมากที่สุด บริษัท อมตะ วอเตอร์ จำกัด ซึ่งมีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบการบริหารจัดการน้ำและน้ำเสียในนิคมอุตสาหกรรมอมตะจึงได้ดำเนินการศึกษาวิธีการนำพลังงานทดแทนจากแสงอาทิตย์มาทดแทนพลังงานไฟฟ้าในกระบวนการทำงาน และได้เริ่มติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์บนหลังคาของอาคารผลิตน้ำด้วยระบบผลิตน้ำหมุนเวียน (Water Reclamation System) ตั้งแต่ปี 2560 และในปี 2562 ได้เริ่มพัฒนาวางแผนติดตั้งแผงโซลาร์ลอยน้ำ (Floating Solar) ในอ่างเก็บน้ำของบริษัท อมตะ วอเตอร์ จำกัด โดยปัจจุบันสามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มาทดแทนการใช้ไฟฟ้าในระบบรวมทั้งหมด 4,004,318 กิโลวัตต์-ชั่วโมงต่อปี คิดเป็นร้อยละ 7.62 ของปริมาณการใช้ไฟฟ้าทั้งหมดของระบบการผลิตน้ำประปา ระบบบำบัดน้ำเสีย ระบบ reclamation และ ระบบสูบน้ำดิบ ทำให้สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 2,002 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี

ในปี 2566 บริษัทฯ มีการใช้พลังงานทุกประเภททั้งภายในและภายนอกองค์กรในกิจกรรมหลักที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานรวมทั้งสิ้น 212,315.13 กิกะจูล เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.4 เมื่อเทียบกับปี 2565 และมีอัตราการใช้พลังงานต่อหน่วยพื้นที่ที่ดำเนินงาน ของปี 2566 เท่ากับ 6.38 กิกะจูลต่อไร่ หรือ 39.88 กิกะจูลต่อเฮกตาร์ เพิ่มขึ้นจากปีฐาน 2562 ร้อยละ 1.3 เนื่องมาจากการการกลับเข้ามาทำงานในสำนักงานของพนักงาน การมีกิจกรรมในสำนักงานมากขึ้น รวมถึงการขยายการดำเนินการของบริษัทฯ แต่อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ จะยังคงมุ่งมั่นในการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียน ลดการใช้พลังงาน และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานอย่างเต็มความสามารถต่อไป  

ร่วมสร้างอนาคตไปกับอมตะ

AMATA

Contact us for more details.

Thailand
+66 38 939 007
Vietnam

+84 251 3991 007 (South)
+84 203 3567 007 (North)

Myanmar
+95 1 230 5627
Laos

+85 620 5758 0007

© AMATA CORPORATION PCL. All rights reserved.  Web by Toneyes  Web by Toneyes